ผลของโปรแกรมส่งเสริมการเผชิญความเครียดต่ออาการซึมเศร้าในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
นุชจรี หยองทอง, อติรัตน์ วัฒนไพลิน*, อัจฉราพร สี่หิรัญวงศ์, ประภา ยุทธไตร
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700 e-mail: atirat.wat@mahidol.ac.th
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมส่งเสริมการเผชิญความเครียดต่ออาการซึมเศร้าในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
รูปแบบการวิจัย: การวิจัยเชิงทดลอง
วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยนอกที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมและทราบผลการวินิจฉัยมารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ภายหลังการผ่าตัด ที่ศูนย์เคมีบำบัด โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เป็นครั้งแรกหรือครั้งที่สองจำนวน 56 คน ซึ่งได้รับการสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 28 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมส่งเสริมการเผชิญความเครียดในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เป็นการให้การปรึกษารายบุคคลแบบพบหน้ากันที่โรงพยาบาลจำนวน 2 ครั้ง และผ่านทางโทรศัพท์จำนวน 4 ครั้ง ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ ประเมินด้วยแบบประเมินอาการซึมเศร้า Center for Epidemiologic Studies-Depression Scale: CES-D ก่อนและหลังการทดลอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาไคร์สแควร์ และการทดสอบที กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติ .05
ผลการวิจัย: ภายหลังการทดลองผู้ป่วยมะเร็งเต้านม กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนอาการซึมเศร้า (x̄ =6.607, SD = 2.819) น้อยกว่ากลุ่มควบคุม (x̄ =17.714, SD = 7.605) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001)
สรุปและข้อเสนอแนะ: โปรแกรมส่งเสริมการเผชิญความเครียดในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสามารถ ลดอาการซึมเศร้าในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกภายหลังการผ่าตัดได้ บุคลากรทางการพยาบาลจึงควรส่งเสริมการนำโปรแกรมฯ ไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมดังกล่าว และพยาบาลควรผ่านการอบรมและฝึกทักษะการให้การปรึกษาเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาก่อนนำโปรแกรมฯไปใช้
 
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์ ปี 2556, July-September ปีที่: 3 ฉบับที่ 31 หน้า 27-36
คำสำคัญ
Depression, มะเร็งเต้านม, อาการซึมเศร้า, breast cancer, coping behavior, การเผชิญความเครียด