ผลของโปรแกรมสนับสนุนการจัดการตนเองต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การทำกิจกรรมทางกาย และควบคุมเมตาบอลิก ในผู้ที่มีภาวะเมตาบอลิกซินโดรม
ณัฐธยาน์ สุวรรณคฤหาสน์*, ลินจง โปธิบาล, ศิริรัตน์ ปานอุทัย, พิกุล บุญช่วง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเทศไทย 110 ถ.อินทวโรรส ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200 E-mail: k_chunnawong@hotmail.com
บทคัดย่อ
                การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมสนับสนุนการจัดการตนเองต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การทำกิจกรรมทางกาย และการควบคุมภาวะเมตาบอลิกในผู้ที่มีภาวะเมตาบอลิกซินโดรม ที่ใช้บริการใน 3 โรงพยาบาลเขตภาคเหนือของประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดจำนวน 86 คน ทำการสุ่มเข้ากลุ่มทดลอง 44 คน และกลุ่มควบคุม 42 คน กลุ่มทดลองได้รับการดูแลด้วยโปรแกรมสนับสนุนการจัดการตนเองที่ออกแบบโดยผู้วิจัย สร้างขึ้นโดยอาศัยโมเดลการจัดการตนเองแบบ 5A ของกลาสโกว์และคณะในปี ค.ศ.2002 ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามมาตรฐาน การดำเนินการโปรแกรมใช้เวลา 3 เดือน มีการเข้ากลุ่มทั้งหมด 6 ครั้ง ซึ่ง 4 ครั้งแรกจะเข้ากลุ่มทุกสัปดาห์ โดยสัปดาห์แรกจะเป็นการให้ความรู้ในเรื่องการรับประทานอาหารและการทำกิจกรรมทางกาย ครั้งที่ 2-4 เป็นการฝึกทักษะการจัดการตนเอง ส่วนครั้งที่ 5-6 เป็นการอภิปรายกลุ่ม โดยมีระยะห่างกัน 1 เดือน การเก็บรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การทำกิจกรรมทางกาย การควบคุมเมตาบอลิกกระทำ 3 ครั้ง คือ เริ่มต้น ที่ 3 และ 6 เดือน การประเมินพฤติกรรมการรับประทานอาหารใช้สมุดบันทึกการรับประทานอาหารภายใน 7 วัน เพื่อคำนวณหาสารอาหารที่ได้รับในแต่ละวันด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาโดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนระดับการทำกิจกรรมทางกายประเมินจากสมุดบันทึกการทำกิจกรรมทางกายโดยคำนวณเป็นพลังงานที่ใช้ในแต่ละวัน ส่วนข้อมูลการควบคุมภาวะเมตาบอลิกประเมินจากขนาดรอบเอว ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไตรกลีเซอไรด์ และระดับเอสดีแอลคอเลสเตอรอล
                ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองมีระดับการทำกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นทั้งที่ 3 และ 6 เดือน นอกจากนี้ ที่ 6 เดือนพบว่า กลุ่มทดลองมีระดับเอสดีแอลคอเรสเตอรอลเพิ่มสูงขึ้นและระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ดีในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ไม่พบการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ขนาดรอบเอว ระดับความดันโลหิต และระดับไตรกรีเซอไรด์ในเลือด
                ดังนั้น พยาบาลสามารถนำโปรแกรมนี้ไปใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะเมตาบอลิกซินโดรม เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมภาวะเมตาบอลิก โดยเฉพาะการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและระดับเอสดีแอลคอเลสเตอรอล ร่วมทั้งสามารถช่วยผู้ป่วยในการกำหนดปัญหาและอุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ที่มา
Pacific Rim International Journal of Nursing Research ปี 2556, October-December ปีที่: 4 ฉบับที่ 17 หน้า 371-383
คำสำคัญ
พฤติกรรมการรับประทานอาหาร, Physical activity, Eating behavior, Self-management support, Metabolic control, Metabolic syndrome, Intervention program, การสนับสนุนการจัดการตนเอง, การทำกิจกรรมทางกาย, การควบคุมภาวะเมตาบอลิก, เมตาบอลิกซินโดรม