การเตรียมปากมดลูกด้วยการให้ยาไมโซพรอสทอลอมใต้ลิ้นก่อนการทำหัตถการดูดเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกด้วยเครื่องมือสุญญากาศชนิดมือถือในสตรีที่มีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก โดยวิธีการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม
วงศ์ษา มณีศร, อธิตา จันทเสนานนท์*, กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติธนะ, คมสันติ์ สุวรรณฤกษ์
Deparment of Obstetrics and Gynaecology, Faculty of Medicine, Thammasat University, Pathumthani 12120, Thailand; Phone: 0-2926-9343, Fax: 0-2926-9685; E-mail: dr.athita@gmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของยาไมโซพรอสทอลโดยวิธีอมใต้ลิ้นเพื่อเตรียมปากมดลูกก่อนการทำ MVA ในสตรีก่อนวัยหมดระดูที่มีอายุระหว่าง 35-55 ปี
วัสดุและวิธีการ: ศึกษาในสตรีก่อนวัยหมดระดูระหว่าง 35-55 ปี ที่มาด้วยภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกที่จำเป็นต้องได้รับการส่งตรวจเยื่อบุโพรงมดลูกทางพยาธิวิทยา จำนวน 80 ราย โดยมีเกณฑ์การคัดออกจากการศึกษา คือมีพยาธิสภาพของโรคที่เกิดบริเวณปากมดลูกที่เห็นได้อย่างชัดเจน มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์แพ้ยาไมโซพรอสทอลหรือมีภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ ผู้ป่วยที่เข้าร่วมการศึกษานี้ถูกสุ่มเลือกเป็นสองกลุ่มโดยวิธี block of  four คือกลุ่มที่ได้ยาไมโซพรอสทอล 200 ไมโครกรัม และยาหลอกหลังจากอมใต้ลิ้น 2 ชั่วโมง เพื่อเตรียมปากมดลูกก่อนการทำ MVA ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินขนาดของปากมดลูก เวลาของการทำหัตถการ ระดับความเจ็บปวด ความพึงพอใจในการรักษา ผลแทรกซ้อนระหว่างการทำหัตถการ ตลอดจนผลข้างเคียงของยาที่ได้รับ
ผลการศึกษา: ค่าเฉลี่ยอายุผู้ที่ได้รับยาไมโซพรอสทอลและยาหลอก คือ 44.8±5.2 ปี และ 45.5±5.0 ปี ตามลำดับ ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 1 ใน 3 ของผู้เข้าร่วมการศึกษาเคยผ่านการขูดมดลูก เมื่อเปรียบเทียบเส้นผ่านศูนย์กลางของปากมดลูกหลังจากได้รับยาไมโซพรอสทอลและยาหลอก พบว่ามีขนาด 6.9±2.0 มิลลิเมตร และ 5.5±2.4 มิลลิเมตร ตามลำดับ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) อีกทั้งระยะเวลาในการทำหัตถการในกลุ่มที่ใช้ยาไมโซพรอสทอลใช้เวลาสั้นกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (5.1±1.7 นาที และ 8.0±3.9 นาที ที่ p< 0.001) และมีคะแนนความเจ็บปวดน้อยกว่าในกลุ่มที่ใช้ยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยคะแนนความพึงพอใจในกลุ่มที่ใช้ยาไมโซพรอสทอลยังสูงกว่าในกลุ่มยาหลอก อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงของยาพบเฉพาะในกลุ่มที่ใช้ยาไมโซพรอสทอล
สรุป: การใช้ยาไมโซพรอสทอลขนาด 200 ไมโครกรัม อมใต้ลิ้นเพื่อเตรียมปากมดลูกก่อนการทำ MVA ได้ผลเป็นที่น่าพอใจทั้งในด้านความพึงพอใจของผู้รับบริการ และความเจ็บปวดที่น้อยกว่า และถึงแม้จะมีผลข้างเคียงจากยาบ้างแต่เป็นผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง และสามารถแก้ไขได้
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2556, December ปีที่: 12 ฉบับที่ 96 หน้า 1525-1530
คำสำคัญ
Misoprostol, Sublingual, manual vacuum aspiration