ประสิทธิผลในการปรับแต่งสันเหงือกส่วนหน้าของเพดานเทียม 2 ชนิด ในการรักษาทารกปากแหว่งเพดานโหว่ด้านเดียวแบบสมบูรณ์
วรรณดี พลานุภาพ*, ศิริชัย ธรรมชาติอารี, พิมพ์นราพร พู่ทองคำ
งานทันตกรรม โรงพยาบาลศิริราช เลขที่ 2 ถนนวังหลัง ตำบลศิริราช อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700 โทรศัพท์: 02-4199119 โทรสาร: 02-4113009 อีเมล: wandee.pal@mahidol.ac.th
บทคัดย่อ
                การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของการปรับแต่งสันเหงือกส่วนหน้าของเพดานเทียม 2 ชนิด คือ เพดานเทียมอะคริลิก และเพดานเทียมพอลิไวนิล ในทารกปากแหว่งเพดานโหว่ด้านเดียวแบบสมบูรณ์ กลุ่มตัวอย่างเป็นทารกปากแหว่งเพดานโหว่ด้านเดียวแบบสมบูรณ์ (อายุตั้งแต่ 1 ถึง 26 วัน อายุเฉลี่ย 6.5 วัน) จำนวน 36 ราย กลุ่มตัวอย่างถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุม 20 ราย และกลุ่มทดลอง 16 ราย กลุ่มควบคุมได้รับการใส่เพดานเทียมอะคริลิก ส่วนกลุ่มทดลองได้รับการใส่เพดานเทียมพอลิไวนิล กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดได้รับการรักษาตามขั้นตอนมาตรฐานเดียวกัน จนกระทั่งมีสุขภาพพร้อมสำหรับการผ่าตัดริมฝีปากเมื่ออายุประมาณ 3 – 4 เดือน ทำการวัดความกว้าง ความสูง ของโค้งปลายเบ้าฟันและขนาดช่องโหว่จากแบบจำลองสันเหงือกแล้วใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม พบว่า ความกว้าง ความสูง ของโค้งปลายเบ้าฟัน และขนาดช่องโหว่ของทั้ง 2 กลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากนั้นคำนวณค่าสัดส่วนของโค้งปลายเบ้าฟันที่เปลี่ยนแปลงไปหลังใส่เพดานเทียมแล้วนำมาเปรียบเทียบด้วยสถิติทดสอบที เพื่อทดสอบความเท่าเทียมกัน โดยมีขอบเขตของความเท่าเทียมกันเท่ากับ 0.1 พบว่า สัดส่วนของโค้งปลายเบ้าฟันของทั้ง 2 กลุ่มมีความเท่าเทียมกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) แสดงว่าเพดานเทียมพอลิไวนิลให้ผลเรื่องการปรับแต่งสันเหงือกส่วนหน้าในทารกปากแหว่งเพดานโหว่ด้านเดียวแบบสมบูรณ์เท่าเทียมกันกับเพดานอะคริลิก
 
ที่มา
วิทยาสารทันตแพทยศาสตร์ ปี 2556, October-December ปีที่: 63 ฉบับที่ 4 หน้า 156-164
คำสำคัญ
Arch ratio, Acrylic obturator, Complete unilateral cleft lip and palate, Polyvinyl obturator, สัดส่วนโค้งปลายเบ้าฟัน, เพดานเทียมอะคริลิก, ปากแหว่งเพดานโหว่ด้านเดียวแบบสมบูรณ์, เพดานเทียมพอลีไวนิล