ผลของนมผงโพรไบโอติกแลคโตบาซิลลัสพาราเคซิอายเอสดีวันต่อปริมาณยีสต์ในน้ำลายของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่ได้รับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน
ชลธิรา แซ่ตั้ง, รวี เถียรไพศาล, วิภาพรรณ ฤทธิ์ถกล*ภาควิชาทันตกรรมป้องกัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110 โทรศัทพ์/โทรสาร: 074-42875 อีเมล: wipapun.r@psu.ac.th
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลของนมผงโพรไบโอติกแลคโตบาซิลลัสพาราเคซิอายเอสดีวัน่อปริมาณยีสต์ในน้ำลายของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่ได้รับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันชนิดติดแน่น โดยทำการทดลองจากกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่กำลังอยู่ระหว่างการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันโดยการใช้เครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่นที่โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำนวน 30 ราย ถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มศึกษาและกลุ่มควบคุม โดยกลุ่มศึกษาประกอบด้วยผู้ป่วยจำนวน 15 ราย ซึ่งได้รับนมผงโพรไบโอติกแลคโตบาซิลลัสพาราเคซิอายเอสดีวันปริมาณ 10 กรัม/น้ำ 50 มล./วัน ในขณะที่กลุ่มควบคุมประกอบด้วยผู้ป่วยจำนวน 15 ราย ได้รับนมผงปกติปริมาณ 10 กรัม/น้ำ 50 มล./วัน ทั้งสองกลุ่มได้รับคำแนะนำให้ดื่มนมในช่วงหลังรับประทานอาหารเช้าทุกวัน เป็นระยะเวลา 30 วัน ปริมาณยีสต์ ดัชนีแผ่นคราบจุลินทรีย์และความเป็นกรดด่างของน้ำลายจะถูกวิเคราะห์ที่ระยะเวลาก่อนรับประทานนม (I) หลังรับประทานนมครบ 30 วัน (T0) และหลังระยะเวลาที่รับประทานนมครบต่อไปอีกสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ (T1, T2, T3, T4) ผลการศึกษาพบว่า ในกลุ่มศึกษามีปริมาณยีสต์ในน้ำลายลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) ในทุกช่วงเวลาหลังรับประทานนม (T0-T4) จากปริมาณเชื้อตั้งต้นแต่ไม่พบความแตกต่างกันทางสถิติในกลุ่มควบคุม เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง 2 กลุ่มพบว่าเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงปริมาณยีสต์ในน้ำลายในกลุ่มศึกษาลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในทุกช่วงเวลาหลังรับประทานนม (T0-T4) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมและไม่พบความแตกต่างทางสถิติของค่าความเป็นกรดด่างของน้ำลาย ค่าดัชนีแผ่นคราบจุลินทรีย์ตลอดการศึกษาในทั้งสองกลุ่ม สรุปได้ว่าในระยะสั้นการรับประทานนมผงโพรไบโอติกแลคโตบาซิลลัสพาราเคซิอายเอสดีวันมีผลในการลดปริมาณยีสต์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่ได้รับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน
ที่มา
วิทยาสารทันตแพทยศาสตร์ ปี 2555, October-December
ปีที่: 62 ฉบับที่ 4 หน้า 157-165
คำสำคัญ
Clefts, Lactobacillus paracasei SD1, Probiotic, Yeast