การเปรียบเทียบผลของการรักษานิ่วในท่อไตส่วนปลายโดยใช้พลังงานเลเซอร์และพลังงานลมอัดกระแทก
มานิตย์ บำรุงยา
แผนกศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลพุทธโสธร ฉะเชิงเทรา
บทคัดย่อ
                ในปัจจุบันนิ่วในท่อไตส่วนปลายมีวิธีการรักษาได้หลากหลายวิธี แต่วิธีผ่าตัดนิ่วในท่อไตโดยใช้กล้องส่องท่อไตผ่าตัดร่วมกับการใช้ตัวกำหนดการสลายนิ่วแบบพลังลมอัดกระแทกและพลังงานเลเซอร์นั้น เป็นวิธีการรักษาที่ค่อนข้างใหม่ในนวัตกรรมของระบบสาธารณสุขไทย แต่ผลของการรักษายังไม่เห็นผลอย่างชัดเจน จึงศึกษาเปรียบเทียบผลของการรักษาและภาวะแทรกซ้อนทางคลินิกในการรักษานิ่วในท่อไตส่วนปลาย โดยใช้พลังงานเลเซอร์กับพลังงานลมอัดกระแทรกเป็นการศึกษาทางคลินิกแบบสุ่มไปข้างหน้า โดยผู้ป่วยที่ได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ด้วยอาการของนิ่วในท่อไตอุดตันและได้รับการประเมินผ่าตัดเอานิ่วออก จะได้รับการพิจารณาใช้วิธีการรักษาโดยการส่องกล้องในท่อไต และสลายนิ่วโดยใช้พลังงานเลเซอร์หรือพลังงานลมอัดกระแทกจากวิธีการคัดเลือกแบบสุ่ม ผู้ป่วยจะได้รับการพิจารณาใช้ยาระงับความรู้สึกโดยวิธีดมยาสลบหรือใช้ยาชาเฉพาะที่ ประเมินประสิทธิผลของการรักษาและรวมถึงภาวะแทรกซ้อนของการรักษาโดยใช้หลักทางสถิติ ในช่วงระยะเวลาศึกษาตั้งแต่ 31 พฤษภาคม 2555 ถึง 7 มกราคม 2556 ผู้ป่วยจำนวน 84 ราย ได้เข้ารับการรักษาครั้งนี้ แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยใช้พลังงานเลเซอร์ 42 ราย และใช้พลังงานลมอัดกระแทก 42 ราย ผลของการรักษาเมื่อเปรียบเทียบอัตราการแตกตัวของนิ่ว ซึ่งการใช้พลังงานเลเซอร์มีผลสัมฤทธิ์ ร้อยละ 97.62 ในขณะที่ผลการรักษาโดยใช้พลังงานลมอัดกระแทกมีผลสัมฤทธิ์ ร้อยละ 92.86 แต่ไม่พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อพิจารณาถึงภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในการรักษาโดยใช้พลังงานลมอัดกระแทก พบว่ามีนิ่วย้ายตำแหน่งสูงขึ้นระหว่างผ่าตัด ร้อยละ 19.05 เกิดภาวะแทรกซ้อนบาดเจ็บต่อท่อไตที่จำเป็นต้องได้รับการใส่สายระบายท่อไต ร้อยละ 21.43 ติดเชื้อในกระแสเลือด ร้อยละ 2.38 และพบว่ามีภาวะปวดหลังผ่าตัดอย่างรุนแรงจนต้องใช้ยาแก้ปวด ร้อยละ 2.38 การรักษานิ่วในท่อไตส่วนปลายโดยใช้การสลายนิ่วด้วยพลังงานเลเซอร์และพลังงานลมอัดกระแทก ให้ประสิทธิผลการรักษาในการทำให้นิ่วแตกไม่แตกต่างกัน แต่ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อน ซึ่งเกิดจากการใช้พลังงานลมอัดกระแทกมีอัตราการเกิดสูงกว่า
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2556, September-October ปีที่: 5 ฉบับที่ 22 หน้า 758-764
คำสำคัญ
Laser Lithotripsy, Pneumatic Lithotripsy, distal ureteric calculi, ureterorenoscopy, ผ่าตัดนิ่วด้วยเลเซอร์, ผ่าตัดนิ่วด้วยพลังลม, นิ่วในท่อไตส่วนปลาย, การส่องกล้องผ่านทางท่อไป