ผลลัพธ์การบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงโดยเภสัชกรโรงพยาบาส่งเสริมสุขภาพตำบล
กานต์ชนก ดอนโชติ, นารี เต็มแบบ, พราวอเคื้อ โหม่งพุฒ, สุภาวดี ศรีชารี, อรวรรณ โพธิ์เสนา*
โรงพยาบาลศรีบุญเรือง หนองบัวลำภู
บทคัดย่อ
                งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลลัพธ์ของการบริบาลทางเภสัชกรรมในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง เป็นการศึกษาแบบ randomized control โดยใช้สถิติเปรียบเทียบแบบ Z-Test ในกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มที่ไม่สัมพันธ์กัน ด้วยข้อมูลจากแบบฟอร์มเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง วัดผลเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มควบคุมกับกลุ่มทดลองซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรมจากเภสัชกรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแต่ละแห่ง
                จากการศึกษาผู้ป่วยกลุ่มทดลองจำนวน 378 ราย (หญิง 315 ราย ชาย 63 ราย) โดยมีกลุ่มอายุ 41-60 ปี ร้อยละ 49.74 และกลุ่มควบคุม 357 ราย (หญิง 290 ราย ชาย 67 ราย) มีกลุ่มอายุ 61-80 ปี ร้อยละ 53.78 ซึ่งผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มมีอายุและเพศแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ จำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานในกลุ่มทดลองที่มีระดับน้ำตาลในเลือดเข้าเกณฑ์เป้าหมาย ๖80-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) 147 ราย คิดเป็นร้อยละ 38.89 มากกว่ากลุ่มควบคุมซึ่งมี 113 ราย คิดเป็นร้อยละ 31.65 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.01) และพบว่าจำนวนผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงในลักษณะลาดชันแต่ละครั้ง รวม 3 ครั้งติดต่อกันในกลุ่มทดลองมี 178 ราย (ร้อยละ 47.09) มากกว่ากลุ่มควบคุมซึ่งมี 104 ราย (ร้อยละ 29.13) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.05) โดยมีค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมหลังพบเภสัชกร 3 ครั้งติดต่อกัน เท่ากับ 149 และ 154 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ตามลำดับ ซึ่งถือว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.05) สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย พบว่า ผลลัพธ์ด้านการควบคุมค่าความดันโลหิตมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value <0.01) เช่นกัน โดยจำนวนผู้ป่วยที่มีค่าเฉลี่ยความดันโลหิตเข้าเกณฑ์เป้าหมาย ( <130/80 มิลลิเมตรปรอท) ในกลุ่มทดลองมี 264 ราย (ร้อยละ 69.84) ขณะที่กลุ่มควบคุมมี 210 ราย (ร้อยละ 58.82๗ รวมทั้งค่าเฉลี่ยความดันโลหิตหลังพบเภสัชกร 3 ครั้งของผู้ป่วยกลุ่มควบคุม (134/85 มิลลิเมตรปรอท) สูงกว่ากลุ่มทดลอง (123/75 มิลลิเมตรปรอท) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.01)
                ผลลัพธ์จากการเยี่ยมบ้านและการบริบาลทางเภสัชกรรมในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตของผู้ป่วยได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงให้เห็นว่า บทบาทเภสัชกรในการบริบาลทางเภสัชกรรมเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น
ที่มา
วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล ปี 2555, May-August ปีที่: 2 ฉบับที่ 22 หน้า 106-114
คำสำคัญ
Pharmaceutical care, การบริบาลทางเภสัชกรรม, district health promotion hospital, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล