การประเมินต้นทุนประสิทธิผลการใช้เอฟดีจี เพ็ท-ซีที เพื่อวินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ชนิดเวลดีฟเฟอเรนทีเอทเต็ดที่สงสัยมีการกลับเป็นใหม่หรือมีการแพร่กระจายของมะเร็งแต่ผลการตรวจสแกนทั้งตัวด้วยไอโอดีนปกติในประเทศไทย
เบญจาภา เขียวหวาน*, เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ, ภาวนา ภูสุวรรณ, พงษ์พิชา ตู้จินดา, นภาพร โตจินดา, กฤตยา อุบลนุชDivision of Nuclear Medicine, Department of Radiology, Faculty of Medicine Siriraj Hospital, 2 Prannok Road, Bangkoknoi, Bangkok 10700, Thailand; Phone: 0-2419-6220, Fax: 0-2412-7165; E-mail: sibkv@mahidol.ac.th
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินต้นทุนประสิทธิผลการใช้เอฟดีจี เพ็ท-ซีที ในการวินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ชนิดเวลดีฟเฟอเรนทีเอทเต็ดที่สงสัยมีการกลับเป็นใหม่หรือมีการแพร่กระจายของมะเร็ง แต่ผลการตรวจสแกนทั้งตัวด้วยไอโอดีนปกติในประเทศไทย
วัสดุและวิธีการ: การทบทวนวรรณกรรม 55 เรื่อง ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2521 ถึง ปี พ.ศ.2553 อย่างเป็นระบบ ทำการศึกษาด้วยโปรแกรมทรีอาจ เพื่อหาค่าต้นทุนและปีชีวิตที่เพิ่มจำนวน 7 ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 คือการรักษาด้วยไอโอดีนรังสีขนาดสูง ทางเลือดที่ 2 ถึง 7 คือการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณคอ ทรวงอก และปอด ภาพถ่ายเทคนีเชียม-มีบี และภาพถ่ายเอฟดีจี เพ็ท-ซีที แล้วนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสมกับโรค เช่น การผ่าตัด การฉายแสง หรือ การให้ไอโอดีนรังสีขนาดสูง และใช้ตัวแปรต้นทุนทางตรง ทางการแพทย์ จากอัตราค่าบริการและราคายาอ้างอิงจากโรงพยาบาลศิริราช ประกอบกับข้อมูลและผู้ป่วยในโรงพยาบาลศิริราช รวมทั้งทำการวิเคราะห์ความไม่แน่นอนสำหรับค่าตรวจภาพถ่ายเพ็ท-ซีที
ผลการศึกษา: การใช้ภาพถ่ายเพ็ท-ซีที ตรวจหาโรค ให้การรักษาโดยการผ่าตัดในผู้ป่วยที่ผ่าได้ และไอโอดีนรังสีขนาดสูงในผู้ป่วยที่ผ่าตัดไม่ได้ จะมีต้นทุนส่วนเพิ่มน้อยที่สุดต่อปี ในมุมมองของโรงพยาบาลคือ 27.08 ปี ในจำนวนเงิน 90,277.61 บาท คิดเป็น 6,936.88 บาทต่อปี เมื่อเทียบกับการรักษาจากการตรวจด้วยภาพถ่ายเทคนีเชียม-มีบี และภาพถ่ายเพ็ท-ซีที ในกรณีที่ภายถ่ายเทคนีเชียม-มีบี ไม่พบความผิดปกติ ให้การรักษาโดยการผ่าตัดในผู้ป่วยที่ผ่าได้และไอโอดีนรังสีขนาดสูงในผู้ป่วยที่ผ่าตัดไม่ได้ ในขณะที่การรักษาทางอื่นจะเพิ่มค่าใช้จ่ายแต่ลดจำนวนปีชีวิต จากการวิเคราะห์ความไว ค่าการตรวจเพ็ท-ซีที ไม่มีผลกระทบต่อต้นทุนประสิทธิผล โดยใช้ความเต็มใจที่จะจ่ายเป็น 360,000 บาท
สรุป: การรักษาผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ที่มีไทโรโกลบูลินสูงแต่ผลการตรวจสแกนทั้งตัวด้วยไอโอดีนปกติ โดยใช้ภาพถ่ายเอฟดีจี เพ็ท-ซีที ตรวจหาโรค ให้การรักษาโดยการผ่าตัดในผู้ป่วยที่ผ่าได้และไอโอดีนรังสีขนาดสูงในผู้ป่วยที่ผ่าตัดไม่ได้ มีความคุ้มค่าที่สุดในมุมมองของโรงพยาบาล และค่าใช้จ่ายการตรวจเพ็ท-ซีที ไม่มีผลกระทบต่อต้นทุนประสิทธิผล ผลการศึกษาดังกล่าวจะเป็นข้อมูลที่ช่วยในการพิจารณากำหนดเกณฑ์การใช้เพ็ท-ซีที สำหรับผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์เพื่อให้เกิดการใช้เพ็ท-ซีที อย่างคุ้มค่าต่อไป
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2556, October
ปีที่: 10 ฉบับที่ 96 หน้า 1350-1364
คำสำคัญ
cost-effectiveness, Thyroid cancer, PET/CT scan