ต้นทุนอรรถประโยชน์ของยา donepezil ในการรักษา Alzheimer's
วิรัตน์ นิวัฒนนันท์, อัญชลี เพิ่มสุวรรณ*, อำไพ พิมพ์ไกร
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินต้นทุนอรรถประโยชน์ของยา donepezil ในการรักษา Alzheimer’s ระดับความรุนแรงน้อยถึงปานกลางกับการไม่ได้ใช้ยาในมุมมองผู้ให้บริการและมุมมองสังคม
วัสดุและวิธีการ: กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วย Alzheimer’s ระดับรุนแรงน้อยถึงปานกลางและได้รับยา donepezil ในการรักษา Alzheimer’s เป็นครั้งแรก โดยเข้ารับการรักษาที่คลินิกความจำ โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ในปี 2546 ถึง 2553 จำนวน 51 ราย เก็บข้อมูลต้นทุนประกอบด้วยค่ายา donepezil ค่ายารักษาโรคร่วม และต้นทุนการดูแลผู้ป่วยอย่างไม่เป็นทางการ วัดผลลัพธ์ในรูปปีสุขภาวะ ซึ่งเป็นผลของอรรถประโยชน์และจำนวนปี เก็บข้อมูลอรรถประโยชน์จากผู้ป่วย Alzheimer’s จำนวน 29 ราย ในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2553 ด้วยแบบสอบถาม EuroQOL ผลของยา donepezil ได้จากการทบทวนวรรณกรรม ข้อมูลทั้งหมดได้นำมาใส่ในแบบจำลองที่เรียกว่า Markov model เพื่อหาอัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม และทำการวิเคราะห์ความไวแบบทางเดียวและแบบใช้ความน่าจะเป็น
ผล: ในมุมมองสังคมทางเลือกยา donepezil มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าทางเลือกไม่ใช้ยา เท่ากับ 143,596 บาท และมีประสิทธิผลมากกว่า 0.498 ปีสุขภาวะ ได้อัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม เท่ากับ 288,465 บาท ต่อปีสุขภาวะ และมีอัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม เท่ากับ 374,904 บาทต่อปีสุขภาวะ ในมุมมองผู้ให้บริการ
สรุป: ทางเลือกยา donepezil จัดเป็นทางเลือกที่ยังไม่คุ้มทุน เมื่อเทียบกับระดับความเต็มใจจ่าย 120,000 บาท ต่อปีสุขภาวะของประเทศไทย
ที่มา
วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย ปี 2556, September ปีที่: 21 ฉบับที่ 3 หน้า 138-149
คำสำคัญ
Cost-utility, ต้นทุนอรรถประโยชน์, ALZHEIMER’S DISEASE, donepezil, ยาโดนีฟีซิล, โรคอัลไซเมอร์