การศึกษาคุณภาพชีวิตด้านผิวหนังในผู้ป่วยโรคเรื้อน
กมลพรณ เลิศรุจิวณิช, กรกวลัย กุลทนันท์, พีชรี เอี่ยมธาราชัย, สราญจิต วิมูลชาติ, อรจุฑา ชัยวนนท์, เพ็ญวดี พัฒนปรีชากุล*
ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: โรคเรื้อนเป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังที่ผิวหนังและเส้นประสาทส่วนปลายที่เกิดจากเชื้อ Mycobacterium laprae ซึ่งก่อให้เกิดรอยโรคและความพิการทางกายแก่ผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สภาพจิตใจรวมทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยอีกด้วย
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตด้านผิวหนังในผู้ป่วยโรคเรื้อนรวมทั้งปัจจัยอื่นๆที่สัมพันธ์กัน
วิธีการศึกษา: เป็นการสัมภาษณ์ผู้ป่วยโรคเรื้อนที่มารับการรักษาที่คลินิกแฮนเซน โรงพยาบาลศิริราช และคลินิกผิวหนังเนื้อชา สถาบันราชประชาสมาสัย กรมควบคุมโรค ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2555 จำนวน 75 ราย โดยใช้แบบสอบถามคุณภาพชีวิตด้านผิวหนังฉบับภาษาไทย
 
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยสมัครใจตอบแบบสอบถามทั้งหมด 75 ราย โดย 65.3% ของผู้ป่วยทั้งหมดมีอาชีพรับจ้าง ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเป็นเพศชาย (73.3%) อายุเฉลี่ย (SD) คือ 46.8(15.5) ปี ผู้ป่วยจำนวน 60 ราย(80%)ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคเรื้อนชนิดเชื้อมาก โดยมีค่าเฉลี่ยของคะแนนรวม DLQI เท่ากับ 7.29(5.88) โดยมีคะแนนตั้งแต่ 0-29 และจากคำถามทั้งหมด 10 ข้อพบว่าข้อที่มีค่าคะแนนสูงที่สุดคือข้อที่ 2 ซึ่งเป็นข้อที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกอับอายและการขาดความมั่นใจซึ่งมีคะแนนเฉลี่ย (SD) เท่ากับ 1.27(1.12) จากการศึกษานี้เราไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างอายุ (p = 0.25) เพศ (p = 0.56) และอาชีพของผู้ป่วย (p = 0.90) กับค่าเฉลี่ยของคะแนน DLQI นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยในกลุ่มเชื้อมากจะมีค่าเฉลี่ยของคะแนน DLQI มากกว่าผู้ป่วยในกลุ่มเชื้อน้อยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติโดยมีค่า adjusted odd ratio เท่ากับ 13.83 (95%CI OR 1.65-115.58, p = 0.015) และพบว่าผู้ป่วยที่มีรอยโรคบริเวณใบหน้าจะมีค่าเฉลี่ยของคะแนน DLQI มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีรอยโรคที่ใบหน้าโดยมีค่า adjusted odd ratio เท่ากับ 3.54 (95%CI OR 1.18-10.68, p = 0.025)
สรุปผล: จากผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าโรคเรื้อนมีผลต่อคุณภาพชีวิตด้านผิวหนังของผู้ป่วยโดยอยู่ในระดับปานกลางโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อนชนิดเชื้อมากและผู้ป่วยที่มีรอยโรคบริเวณใบหน้า
ที่มา
วารสารโรคผิวหนัง ปี 2555, July-September ปีที่: 28 ฉบับที่ 3 หน้า 159-168
คำสำคัญ
Leprosy, Dermatology Life Quality Index, คุณภาพชีวิตด้านผิวหนัง, โรคเรื้อน