เปรียบเทียบการตอบสนองต่อความเจ็บปวดจากการถูกเจาะเลือดในทารกแรกเกิดครบกำหนดขณะกำลังดูดนมแม่และหลังจากดูดนมแม่แล้ว
บุณยาพร พันธิตพงษ์
กลุ่มงานสูติ-นรีเวชกรรมโรงพยาบาลพระปกเกล้า
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์:  เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในการลดระดับความเจ็บปวดของทารกแรกเกิดจากการเจาะเลือดขณะให้ลูกดูดนมแม่และหลังจากให้ลูกดูดนมแม่แล้ว
วิธีการ: ศึกษาในทารกแรกเกิดครบกำหนดจำนวน 75 คนที่ต้องถูกเจาะเลือดตามกระบวนการดูแลทารกตามปกติที่อายุ 48 ชั่วโมง โดยทารกจะถูกจับสลากแบ่งเป็น  3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ถูกเจาะเลือดขณะกำลังดูดนมแม่  กลุ่มที่ 2  ถูกเจาะเลือดหลังดูดนมแม่อิ่มแล้วไม่เกิน 10 นาที   และกลุ่มที่  3 ถูกเจาะเลือดขณะที่ไม่ได้ดูดนมแม่มานานเกิน 1ชั่วโมงแล้ว แต่ไม่เกิน 2 ชั่วโมง แล้ววัดการตอบสนองต่อความเจ็บปวดทางสรีระด้วยอัตราการเต้นของหัวใจและ ค่า O2 saturation ที่เปลี่ยนแปลง  วัดพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อความเจ็บปวดด้วย ระยะเวลานานของการร้องไห้และ Neonatal Infant Pain Scale (NIPS)
ผลการศึกษา:   ระยะเวลานานของการร้องไห้และ Neonatal Infant Pain Scale ในทารกที่ถูกเจาะเลือดขณะกำลังดูดนมแม่  น้อยกว่าในกลุ่มที่ 2 และ3 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  (p < 0.05) โดยไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มที่ 2และ 3 ส่วนการเปลี่ยนแปลงอัตราการเต้นของหัวใจและ ค่า O2 saturation ในทั้ง 3 กลุ่มไม่พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุป: ในทารกแรกเกิดครบกำหนดที่คลอดปกติและไม่มีภาวะแทรกซ้อน การดูดนมแม่ขณะถูกเจาะเลือดช่วยลดระยะเวลาการร้องไห้และการตอบสนองต่อความเจ็บปวดจากการวัดด้วย Neonatal Infant Pain Scale
ที่มา
วารสารศูนย์การศึกษาแพทยศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า ปี 2556, July-September ปีที่: 30 ฉบับที่ 3 หน้า