ประสิทธิภาพของการออกกำลังกล้ามเนื้อหน้าขาก่อนผ่าตัดในผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
ภัททิรา เวียงคำ*, ยอดปิติ ตั้งตรวจิตร, ปิยะรัตน์ สวนกูล, กุลธิดา อินคา
งานผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลแพร่
บทคัดย่อ
บทนำ: ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่เรื้อรังมักมีอาการปวดเข่า พิสัยของการงอและการเหยียดเข่าลดลงทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าขาลดลง การศึกษาหลายแห่งพบว่า การออกกำลังกายกล้ามเนื้อหน้าขามีผล เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าขาของผู้ป่วยได้
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบระดับความเจ็บปวดและระดับความสามารถในการเคลื่อนไหวของข้อเข่าหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมระหว่างผู้ป่วยที่ได้รับการฝึกออกกำลังกายกล้ามเนื้อหน้าขาก่อนผ่าตัดและผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบปกติ
วิธีการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัด เปลี่ยนข้อเข่าเทียมที่เข้ามารับการรักษาที่ห้องตรวจโรคกระดูกและข้อ โรงพยาบาลแพร่ตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 ถึงเดือนสิงหาคม 2554 สุ่มผู้ป่วยเข้ากลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองจำนวนละ 30 ราย ก่อนรับการผ่าตัดทั้ง 2 กลุ่ม ได้รับการประเมินการเคลื่อนไหวของข้อเข่าด้วยแบบประเมิน Modified WOMAC Score ประเมินระดับความเจ็บปวดด้วย Visual Analogue Scales (VAS) วัดพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อเข่าด้วยโกนิโอมิเตอร์ และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าขาด้วยเครื่องไดนาโมมิเตอร์ กลุ่มทดลองจะได้รับการฝึกออกกำลังกายกล้ามเนื้อหน้าขาควาดไดเซบ (Quadriceps) ก่อนผ่าตัด 3 สัปดาห์ ทั้งกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองได้รับการประเมินผล 3 ครั้ง คือก่อนผ่าตัด หลังผ่าตัด 1 เดือน และ 3 เดือน
ผลการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่มส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงอายุมากกว่า 60 ปี การศึกษา อาชีพ ดัชนีมวลกาย ระยะเวลาปวดเข่า การใช้ยาแก้ปวด paracetamal และ NSAID ไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากการติดตามผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม 3 ครั้ง เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมภายหลังปรับความแตกต่างที่วัดครั้งแรกแล้ว กลุ่มทดลองมีระดับความเจ็บปวดลดลงมากกว่าตลอดช่วงการติดตาม (p < 0.05) ค่าเฉลี่ย Modified WOMAC Score ดีกว่าตลอดช่วงการติดตามหลังผ่าตัด 3 เดือน ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าขาเพิ่มขึ้นมากกว่า (p < 0.05) ส่วนพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อเข่าไม่แตกต่างกัน
สรุป: ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ควรได้รับการฝึกทักษะบริหารกล้ามเนื้อหน้าขาอย่างน้อย 3 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการรักษาเพราะลดระดับความสามารถในการเคลื่อนไหวของข้อเข่าหลังผ่าตัดได้ดี และฟื้นฟูสภาพร่างกายได้เร็วขึ้น
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลแพร่ ปี 2555, January-June ปีที่: 20 ฉบับที่ 1 หน้า 17-25