ความคุ้มค่าของการใช้แอลฟาฟีโตโปรตีนร่วมกับอัลตร้าซาวด์ในการคัดกรองมะเร็งตับในผู้ป่วยตับอักเสบบีเรื้อรัง
อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ*, กรกพร ใจสถาพร, ชนินทร์ อภิวาณิชย์, ณธร ชัยญาคุณาพฤกษ์, ณัฏฐิญา ค้าผล, น้ำฝน ศรีบัณฑิต, วุฒิ สุเมธโชติเมธา, ศิริรัตน์ ตันสกุล, อนันต์ กรลักษณ์, อรุณี ไทยะกุล, อาคม ชัยวีระวัฒนะ, อารีย์ ประสิทธิพยงค์, เสาวคนธ์ ศุกรโยธิน
สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์
บทคัดย่อ
                มะเร็งตับเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่พบได้บ่อย อุบัติการณ์การเกิดมะเร็งตับมีจำนวนประมาณ 564,000 คนใน แต่ละปี การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดมะเร็งตับ การตรวจคัดกรองในปัจจุบันทำโดยการตรวจหาแอลฟาฟีโตโปรตีน (Alpha fetoprotein) ร่วมกับการทำอัลตร้าซาวด์ตับทุก 6 เดือน สำหรับผู้ป่วยตับอักเสบบีเรื้อรัง การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการประเมินความคุ้มค่าในลักษณะต้นทุน-อรรถประโยชน์ของการตรวจคัดกรองมะเร็งตับด้วยแอลฟาฟีโตโปรตีนร่วมกับการทำอัลตร้าซาวด์ตับทุก 6 เดือน ในมุมมองทางสังคมโดยเปรียบเทียบกับการไม่ตรวจคัดกรองที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ การศึกษาใช้แบบจำลอง Markov ในการจำลองธรรมชาติของการเกิดมะเร็งตับ ได้แก่ ระยะยังไม่เป็นมะเร็งตับ ระยะเป็นมะเร็งตับผ่าตัดได้ ระยะมะเร็งตับผ่าตัดไม่ได้ และเสียชีวิต แบบจำลองการตัดสินใจใช้กับผู้ป่วยตับอักเสบบีเรื้อรังอายุเฉลี่ย 51 ปี ที่เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งตับความน่าจะเป็นในการเปลี่ยนของแต่ละสถานะพิจารณาในทุก 6 เดือน ต้นทุนและผลที่ได้ใช้ค่าอัตราส่วนลด (discount rate) ที่ร้อยละ 3 ต่อปี พบว่าอัตราส่วนระหว่างผลต่างระหว่างผลต่างของต้นทุนในการคัดกรองกับไม่คัดกรองต่อผลต่างของประสิทธิผล (incremental cost-effectiveness ratio, ICER) ที่เป็นจำนวนปีที่ปรับสภาวะแล้ว (quality adjusted life year, QALY) ของการคัดกรองกับไม่คัดกรองมะเร็งตับทุก 6 เดือน ในเพศชายเป็นเงิน 471,320 บาท และ 560,336 บาท ในเพศหญิงต่อ 1 QALY การศึกษานี้สรุปผลได้ว่า การตรวจแอลฟาฟีโตโปรตีนร่วมกับการทำอัลตราซาวด์ตับไม่คุ้มค่าที่จะใช้ในการคัดกรองมะเร็งตับทุก 6 เดือน สำหรับผู้ที่เป็นตับอักเสบบีเรื้อรัง ซึ่งมีต้นทุน-ประสิทธิผลในการดำเนินการของคนไทยไม่ควรสูงกว่า 300,000 บาท (3 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ต่อ 1 ปี สุขภาวะที่ปรับคุณภาพชีวิตแล้ว
ที่มา
วารสารกรมการแพทย์ ปี 2555, April-June ปีที่: 37 ฉบับที่ 2 หน้า 81-89
คำสำคัญ
Hepatocellular carcinoma, Chronic hepatitis B, Alpha fetoprotein, Liver ultrasound, HCC, แอลฟาฟีโตโปรตีน, อัลตร้าซาวด์ตับ, มะเร็งตับ, ตับอักเสบบีเรื้อรัง