การศึกษาผลกระทบของคุณภาพชีวิตเกี่ยวกับสุขภาพในกลุ่มย่อยของผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องชนิดไม่มีแผลในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
มนภัค พฤกษพานิช*, สุเทพ กลชาญวิทย์
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทคัดย่อ
ความสำคัญและที่มา: อาการปวดท้องชนิดไม่มีแผลเป็นกลุ่มอาการที่มีความหลากหลาย โดยแบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามเกณฑ์วินิจฉัย ROME III ประกอบด้วยกลุ่มอาการท้องอืดแน่นท้องหลังอาหารและกลุ่มอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ การมีอาการปวดท้องชนิดไม่มีแผลนี้สามารถทำให้มีคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพลดลงได้ แต่ผลของภาวะนี้ต่อคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยไทยยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน
วัตถุประสงค์: งานวิจัยนี้จึงต้องการศึกษาผลกระทบของคุณภาพชีวิตเกี่ยวกับสุขภาพในกลุ่มย่อยของผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องชนิดไม่มีแผล รวมถึงความแตกต่างของคุณภาพชีวิตเกี่ยวกับสุขภาพในแต่ละกลุ่มย่อยของผู้ป่วยปวดท้องแบบไม่มีแผล
ระเบียบวิธีวิจัย: ผู้ป่วยปวดท้องชนิดไม่มีแผลที่ได้รับการวินิจฉัยตามเกณฑ์ ROME III 71 ราย เป็นเพศชาย 22 ราย อายุเฉลี่ย 47±12 ปี ได้ทำการตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับอาการของระบบทางเดินอาหารเพื่อแยกผู้ป่วยเป็นกลุ่มย่อย แบบสอบถามเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ (SF-36) ซึ่งประกอบด้วย 8 มิติ ประเมินคุณภาพชีวิตด้านกายภาพ จิตใจและสังคม
ผลการวิจัย: ผู้ป่วยปวดท้องแบบไม่มีแผล 71 ราย ประกอบด้วยกลุ่มอาการท้องอืดแน่นท้องหลังรับประทานอาหาร (postprandial distress syndrome) 11 ราย (ร้อยละ 15) กลุ่มอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ (epigastric pain syndrome) 15 ราย (ร้อยละ 21) และมีทั้ง 2 กลุ่มอาการ (overlap) 45 ราย (ร้อยละ 63) มีอาการร่วม ได้แก่ ลำไส้แปรปรวน 12 ราย (ร้อยละ 17) ท้องอืดมีลมมาก 43 ราย (ร้อยละ 61) เรอเป็นลม 19 ราย (ร้อยละ 27) ผู้ป่วยกลุ่มอาการท้องอืดแน่นท้องหลังอาหาร กลุ่มอาการปวดท้องลิ้นปี่ และกลุ่มอาการร่วมมีคุณภาพชีวิตเกี่ยวกับสุขภาพแย่ลงไม่แตกต่างกัน (p > 0.05) ผู้ป่วยที่มีอาการลำไส้แปรปรวนร่วมด้วยมีคุณภาพชีวิตด้านข้อจำกัดด้านสุขภาพกาย (37±42 เทียบกับ 62±43) ข้อจำกัดด้านอารมณ์ (22±36 เทียบกับ 64±45) และสุขภาพจิต (54±13 เทียบกับ 64±17) แย่กว่ากลุ่มปวดท้องชนิดไม่มีแผลที่ไม่มีลำไส้แปรปรวนร่วมด้วยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ผู้ป่วยที่มีเรอเป็นลมร่วมด้วยมีคุณภาพชีวิตด้านสมรรถภาพทางกายแย่กว่ากลุ่มปวดท้องชนิดไม่มีแผลที่ไม่มีเรอเป็นลมร่วมด้วยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (73±28 เทียบกับ 79±24, p < 0.05) เพศหญิงมีคุณภาพชีวิตด้านคุณสุขภาพทั่วไป ด้านสมรรถภาพทางกาย แย่กว่าผู้ชาย (47±21 เทียบกับ 60±20 และ 74±26 เทียบกับ 89±14) (p < 0.05) ความรุนแรงของอาการมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพทั่วไป ข้อจำกัดด้านอารมณ์ พลังชีวิต และสุขภาพจิตที่แย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ (r = -0.39, -0.29, -0.30 และ -0.26, p < 0.05
สรุป: ระดับคุณภาพชีวิตเกี่ยวกับสุขภาพในผู้ป่วยกลุ่มอาการท้องอืดแน่นท้องหลังอาหาร กลุ่มอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ และกลุ่มอาการร่วมไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ แต่ผู้ป่วยปวดท้องชนิดไม่มีแผลที่มีอาการลำไส้แปรปรวนร่วมหรือท้องอืดมีลมมากร่วมด้วย เพศหญิงและความรุนแรงของอาการที่มากขึ้นสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตที่แย่ลง
ที่มา
จุฬาอายุรศาสตร์ ปี 2556, January-March ปีที่: 26 ฉบับที่ 1 หน้า 13-30