ต้นทุนประสิทธิผลของการรับยาทางไปรษณีย์เปรียบเทียบกับการรับยาที่แผนกผู้ป่วยนอกของผู้ป่วยจิตเภท ณ โรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่
ปฤทัย สำราญคง
โรงพยาบาลสวนปรุง
บทคัดย่อ
        โรคจิตเภทเป็นโรคที่มีผู้ป่วยมากเป็นอันดับหนึ่งของโรงพยาบาลสวนปรุง ต้องใช้ยารักษาเป็นเวลานานเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ พบว่าผู้ป่วยที่ใช้ยาไม่สม่ำเสมอมีการกลับเป็นซ้ำมากกว่าผู้ป่วย ที่ใช้ยาสม่ำเสมอ 1-3 เท่า ผู้ป่วยส่วนหนึ่งขาดยาเนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปรับยาได้ และโรงพยาบาลใกล้บ้านไม่มียาที่ใช้ จึงจัดส่งยาทางไปรษณีย์สำหรับผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการเดินทางเพื่อให้มียาใช้สม่ำเสมอเช่นเดียวกับการรับยาที่แผนกผู้ป่วยนอก
                การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบต้นทุนและประสิทธิผลระหว่างการรับยาทางไปรษณียบัตรและการรับยาที่แผนกผู้ป่วยนอก ในมุมมองสังคมโดยใช้แบบจำลองการตัดสินใจ
                ต้นทุนประกอบด้วยต้นทุนทางตรงและทางอ้อม ผลลัพธ์คืออัตราของจำนวนผู้ป่วยที่ใช้ยาต่อเนื่องและไม่มีการกลับเป็นซ้ำต่อผู้ป่วยทั้งหมดในทางเลือกแต่ละทาง ข้อมูลต้นทุนและผลลัพธ์ได้จากใบสั่งยาของผู้ป่วยที่รับยาทางไปรษณีย์ 92 ราย และผู้ป่วยที่รับยาที่แผนกผู้ป่วยนอก 450 ราย ที่ได้จากการสุ่มประชากรผู้ป่วยที่ใช้บริการของโรงพยาบาลสวนปรุงในช่วงปี 2552-2553 คำนวณอัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม และวิเคราะห์ความไวแบบทางเดียว
                พบว่าต้นทุนรวมของการรับยาทางไปรษณีย์ต่ำกว่าการรับยาที่แผนกผู้ป่วยนอก 11,200 บาทต่อราย อัตราส่วนจำนวนผู้ป่วยที่ใช้ยาต่อเนื่องและไม่กลับเป็นซ้ำของการรับยาทางไปรษณีย์เพิ่มมากกว่า การรับยาที่แผนกผู้ป่วยนอกร้อยละ 6 เมื่อพิจารณาอัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม (Incremental cost effectiveness ratio, ICER) พบว่าการรับยาทางไปรษณีย์ช่วยประหยัดต้นทุน 187,000 บาทต่อราย
ที่มา
วารสารสวนปรุง ปี 2556, January-April ปีที่: 29 ฉบับที่ 1 หน้า 47-59
คำสำคัญ
Recurrence, adherence, ผู้ป่วยจิตเภท, การกลับเป็นซ้ำ, COST EFFECTIVENESS ANALYSIS, Schizophrenic Patients, Mail – order service, การประเมินต้นทุนประสิทธิผล, การรับยาทางไปรษณีย์, การใช้ยาต่อเนื่อง