อิทธิพลของความรู้สึกไม่แน่นอนในความเจ็บป่วย ความแตกฉานด้านสุขภาพ การสนับสนุนทางสังคมต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว
ดวงรัตน์ วัฒนกิจไกรเลิศ, วนิดา หาจักร*
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว และทำนายความรู้สึกไม่แน่นอนในความเจ็บป่วย ความแตกฉานด้านสุขภาพ และการสนับสนุนทางสังคมที่มีคุณภาพชีวิตต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว
รูปแบบการวิจัย: การวิจัยเชิงความสัมพันธ์พยากรณ์
วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 18 ปี ที่มาติดตามรับการรักษา ณ คลินิกโรคหัวใจ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 85 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามความรู้สึกไม่แน่นอนในความเจ็บปวดฉบับชุมชน แบบประเมินความแตกฉานด้านสุขภาพขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว แบบวัดการช่วยเหลือทางสังคมแบบพหุมิติ และแบบสอบถามวิถีชีวิตของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาและวิเคราะห์ความเที่ยงแล้ว มีค่าความเที่ยงมากกว่า 0.80 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สันและการวิเคราะห์ถดถอยแบบเข้าพร้อมกัน
ผลการวิจัย:
  1. ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวมีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 54.1
  2. ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวมีความแตกฉานด้านสุขภาพอยู่ในระดับไม่เพียงพอร้อยละ 47.1
  3. ความรู้สึกไม่แน่นอนในความเจ็บป่วยเพียงตัวแปรเดียวที่สามารถทำนายคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (β = .651, p < .001)
  4. ความรู้สึกไม่แน่นอนในความเจ็บป่วย ความแตกฉานด้านสุขภาพ การสนับสนุนทางสังคมสามารถร่วมกันทำนายคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวได้ร้อยละ 46.8 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (R2 = .468, p < .001)
สรุปและข้อเสนอแนะ: การศึกษาครั้งนี้พบว่าความรู้สึกไม่แน่นอนในความเจ็บป่วยสามารถทำนายคุณภาพชีวิตได้สูง จึงควรนำผลการวิจัยที่ได้มาพัฒนาโปรแกรมการดูแลผู้ป่วย และมีการทดสอบประสิทธิผลของโปรแกรม เพื่อลดความรู้สึกไม่แน่นอนในความเจ็บป่วยที่จะส่งผลให้ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ปี 2556, January-April ปีที่: 25 ฉบับที่ 1 หน้า 79-81
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Heart failure, คุณภาพชี่วิต, Uncertainty in illness, ภาวะหัวใจล้มเหลว, ความรู้สึกไม่แน่นอนในความเจ็บป่วย