การใช้นวตกรรมสายรัดคาง elastic เปรียบเทียบกับสารรัดคางไหมพรมเพื่อลดการรั่วของแรงดันบวกในทารกแรกเกิดที่ใส่ Nasopharyngeal CPAP
พรรัตน์ จำกัด, วรัชญา ฟุ้งเจริญทรัพย์, วรางคณา มหาพรหม*, สุพิชญนันทน์ ไพบูลย์
ไอซ๊ยูทารกแรกเกิด กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
บทคัดย่อ
ความเป็นมา: Continuous positive airway pressure (CPAP) เป็นเครื่องช่วยหายใจที่ให้แรงดันบวกภายในทางเดินหายใจตลอดช่วงเวลาของการหายใจเข้า-ออก เพื่อป้องกันภาวะปอดแฟบ ซึ่งต้องอาศัยความคงที่ของแรงดันบวกเพื่อถ่างขยายเยื่อหุ้มปอดให้มีการแลกเปลี่ยนก๊าซได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากทารกอ้าปากจะทำให้มีการรั่วของแรงดันบวกส่งผลให้ประสิทธิภาพในการช่วยหายใจลดลง
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบความคงที่แรงดันบวกเครื่องช่วยหายใจของทารกที่ใช้สายรัดคาง elastic กับสายรัดคางไหมพรมขณะใส่ nasopharyngeal CPAP
วิธีการศึกษา: ศึกษาผู้ป่วยทารกแรกเกิดทุกคนที่ได้รับการช่วยหายใจด้วย nasopharyngeal CPAP แบบ continuous flow ชนิดต่อกับเครื่องช่วยหายใจ ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยไอซียูทารกแรกเกิดตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2554 ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2555 จำนวน 26 คน สุ่มเข้ากลุ่มใช้สายรัดคางไหมพรม จำนวน 14 คน สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของแรงดันบวก 701 ครั้ง สุ่มเข้ากลุ่มใช้สายรัดคาง elastic 12 คน สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของแรงดันบวก 650 ครั้ง โดยสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของแรงดันบวกจากหน้าจอเครื่องช่วยหายใจและบันทึกการเปลี่ยนแปลงทุก 1 ชั่วโมง ศึกษาลักษณะต่างๆ ของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มดังนี้ ลักษณะทั่วไปได้แก่ เพศ อายุครรภ์ น้ำหนักแรกเกิด และการวินิจฉัยโรค วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และเปรียบเทียบความแตกต่างทั้งสองกลุ่มด้วยสถิติ Chi-square จัดกลุ่มผลการเปลี่ยนแปลงเป็น 5 ระดับ คือเปลี่ยนแปลงลบ 2 เซนติเมตรน้ำ เปลี่ยนแปลงลบ 1 เซนติเมตรน้ำ ไม่เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงเป็นบวก 1 เซนติเมตรน้ำ และเปลี่ยนแปลง บวก 2 เซนติเมตรน้ำ เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของแรงดันบวกระหว่างกลุ่มที่ใช้สายรัดคางแบบไหมพรม และสายรัดคางแบบ elastic วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ Continuation-ratio models for ordinal response data
ผลการศึกษา: ทารกส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุครรภ์เฉลี่ย 29.5 สัปดาห์ น้ำหนักแรกเกิดอยู่ในช่วง 1,001-1,499 กรัม และได้รับการวินิจฉัยโรคเป็น preterm with RDS ทั้งสองกลุ่มเหมือนกันคืออายุครรภ์น้ำหนักแรกเกิด การวินิจฉัยโรค ส่วนเพศมีความแตกต่างกัน (P < 0.001) เมื่อปรับความแตกต่างของเพศ อายุ น้ำหนักแรกเกิด การวินิจฉัยโรค และแรงดันบวกเริ่มต้นแล้ว ความคงที่แรงดันบวกของเครื่องช่วยหายใจกลุ่มที่ใส่สายรัดคางไหมพรมไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ใส่สายรัดคาง elastic อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P = 0.960)
สรุปและข้อเสนอแนะ: ทารกที่ใช้สายรัดคางไหมพรมกับสายรัดคาง elastic ขณะใส่ nasopharyngeal CPAP ไม่ทำให้ความคงที่ของแรงดันบวกเปลี่ยนแปลงแตกต่างกัน จึงสามารถใช้ทดแทนกันได้ตามความเหมาะสม
ที่มา
เชียงรายเวชสาร ปี 2556, ปีที่: 5 ฉบับที่ 1 หน้า 103-109
คำสำคัญ
continuous positive airway pressure, air leak, neonate