ผลของการปฏิบัติสมาธิเคลื่อนไหวไทยชี่กงต่อความดันโลหิตในผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูง
ธิติสุดา สมเวที*, ลินจง โปธิบาล, ภารดี นานาศิลป
โรงพยาบาลสารภี, จังหวัดเชียงใหม่
บทคัดย่อ
            โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรังที่พบมากในผู้สูงอายุ การควบคุมความดันโลหิตให้เหมาะสมเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ การวิจัยครั้งนี้ใช้แบบการวิจัยเชิงทดลองสองกลุ่มวัดก่อนและหลังการทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการปฏิบัติสมาธิเคลื่อนไหวไทยชี่กงต่อความดันโลหิตในผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุจำนวน 68 รายที่มารับบริการที่คลินิกโรคความดันโลหิตสูง แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลเวียงป่าเป้า อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ระหว่างเดือน มิถุนายนถึงสิงหาคม พ.ศ.2553 คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง ตามคุณสมบัติที่กำหนดและจับคู่ให้มีความคล้ายคลึงกันในด้าน เพศ อายุ การศึกษา ระดับความดันโลหิตและกลุ่มยาควบคุมความดันโลหิต สุ่มกลุ่มตัวอย่างในแต่ละคู่เข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มทดลองปฏิบัติสมาธิเคลื่อนไหวไทยชี่กง เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มควบคุมไม่ได้ปฏิบัติสมาธิโดยวิธีใดๆ เครื่องมือที่ใช้ในการวัดความดันโลหิตก่อนและหลังการทดลองเป็น เครื่องวัดความดันโลหิตชนิดปรอท วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติอ้างอิงนอนพาราเมตริก
ผลการวิจัยพบว่า
                หลังการปฏิบัติสมาชิกเคลื่อนไหวไทยชี่กงผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงมีความดันโลหิตซิสโตลิคและความดันโลหิตไดแอสโตลิคต่ำกว่าก่อนและการปฏิบัติสมาธิเคลื่อนไหวไทยชี่กงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) ความดันโลหิตซิสโตลิคและความดันโลหิตไดแอสโตลิคของผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงกลุ่มที่ปฏิบัติสมาธิเคลื่อนไหวไทยชี่กงต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ปฏิบัติสมาธิเคลื่อนไหวไทยชี่กงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001)
                ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าพยาบาลสามารถใช้การปฏิบัติสมาธิเคลื่อนไหวไทยชี่กงเป็นวิธีการเสริมในการควบคุมความดันโลหิตในผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงได้
ที่มา
พยาบาลสาร ปี 2554, October-December ปีที่: 4 ฉบับที่ 38 หน้า 81-92
คำสำคัญ
elderly, hypertension, Blood pressure, Thai Qigong, การปฏิบัติสมาธิเคลื่อนไหวไทยชี่กง, ผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูง