ผลของการออกกำลังกายแบบโนราห์ประยุกต์ต่อระดับไกลโคไซเลทฮีโมโกลบินของผู้สูงอายุโรคเบาหวานชนิดที่ 2
กาญจนา บัวเนียม*, ศิริรัตน์ ปานอุทัย, ทศพร คำผลศิริ
โรงพยาบาลพัทลุง จังหวัดพัทลุง
บทคัดย่อ
                โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคเรื้อรังที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคจะเพิ่มขึ้นตามอายุ เนื่องจากร่างกายมีความสามารถในการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อลดลงและมีภาวะดื้อต่ออินสุลินมากขึ้น ส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จะสามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ การวิจัยเชิงทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการออกกำลังกายแบบโนราห์ประยุกต์ต่อระดับไกลโคไซเลทฮีโมโกลบินของผู้สูงอายุโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มารับบริการที่คลินิกโรคเบาหวาน โรงพยาบาลพัทลุง ระหว่างเดือนเมษายน ถึงกันยายน พ.ศ.2553 จำนวน 60 ราย กลุ่มตัวอย่างคัดเลือกตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ โดยทั้งสองกลุ่มมีคุณสมบัติที่คล้ายคลึงกันในด้านของกลุ่มยาที่ได้รับ และระดับพฤติกรรมการบริโภคอาหารโดยทำการสุ่มกลุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มทดลองได้รับการออกกำลังกายแบบโนราห์ประยุกต์ ครั้งละ 45 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลานาน 12 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มควบคุมให้ดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติโดยไม่มีการออกกำลังกาย ก่อนและหลังการทดลองตรวจหาระดับไกลโคไซเลทฮีโมโกลบิน และสัมภาษณ์พฤติกรรมการบริโภคอาหาร วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปด้วยสถิติพรรณนา ทดสอบสมมติฐานโดยใช้สถิติทดสอบค่าเฉลี่ยของประชากร 2 กลุ่มที่อิสระต่อกัน (Mann-Whitney U test) และสถิติทดสอบค่าเฉลี่ยของประชากร 2 กลุ่มที่สัมพันธ์กัน (Wilcoxon Signed-Ranks test)
ผลการวิจัยพบว่า
  1. ระดับไกลโคไซเลทฮีโมโกลบินในผู้สูงอายุโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ภายหลังจากออกกำลังกายแบบโนราห์ประยุกต์ ต่ำกว่าก่อนออกกำลังกาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001)
  2. ระดับไกลโคไซเลทฮีโมโกลบินของผู้สูงอายุโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในกลุ่มที่ออกกำลังกายแบบโนราห์ประยุกต์ ต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ออกกำลังกาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05)
ผลของการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การออกกำลังกายแบบโนราห์ประยุกต์สามารถช่วยลดระดับไกลโคไซเลทฮีโมโกลบินของผู้สูงอายุโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ ดังนั้นการออกกำลังกายแบบโนราห์ประยุกต์สามารถนำไปใช้เป็นทางเลือกในการส่งเสริมการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ให้มีพฤติกรรมการออกกำลังกายที่ถูกต้อง เหมาะสมและต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น
ที่มา
พยาบาลสาร ปี 2554, October-December ปีที่: 4 ฉบับที่ 38 หน้า 50-64
คำสำคัญ
Exercise, in Elderly People with Type 2 Diabetes Mellitus, Effect of Moderate Exercise in Elderly People with Type 2 Diabetes Mellitus, Effect of Exercise on Glycosylated Hemoglobin Level, การออกกำลังกายในผู้สูงอายุโรคเบาหวาน, ผลของการออกกำลังกายที่มีความหนักปานกลางในผู้สูงอายุโรคเบาหวาน, ผลของการออกกำลังกายต่อระดับไกลโคไซเลทฮีโมโกลบิน