ผลการใช้แนวปฏิบัติเพื่อป้องกันอาการท้องผูกในผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์สูงอายุที่ถูกจำกัดการเคลื่อนไหว
สุจิตรา ผ่องผดุง, สงกราน มาประสพ, เสาวภาคย์ มหาวัน*
หอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูกหญิง โรงพยาบาลอุตรดิตถ์
บทคัดย่อ
                ปัญหาท้องผูกพบได้บ่อยในผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ที่ถูกจำกัดการเคลื่อนไหว มักเกิดเพิ่มขึ้นตามอายุและพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจากการเคลื่อนไหวของลำไส้ลดลง และปวดบริเวณกระดูกหัก นอกจากนี้ อาการท้องผูกอาจเกิดจากการรับประทานอาหารเส้นใยไม่เพียงพอ ร่างกายขาดน้ำ เป็นต้น ในแต่ละปีพบมีผู้ป่วยสูงอายุกระดูกหักบริเวณรอบสะโพกและกระดูกต้นขาเพิ่มขึ้น การนำแนวปฏิบัติมาใช้เพื่อป้องกันอาการท้องผูกจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวลงได้ การศึกษานี้เพื่อเปรียบเทียบผลการใช้แนวปฏิบัติเพื่อป้องกันอาการท้องผูกในผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์สูงอายุที่ถูกจำกัดการเคลื่อนไหวระหว่างกลุ่มใช้แนวปฏิบัติในการป้องกันปัญหาท้องผูกกับกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ วิธีการศึกษาเป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มเข้ากลุ่ม (randomized clinical trial) กลุ่มตัวอย่างถูกสุ่มเข้ากลุ่มโดยการเปิดซองที่ปิดผนึก ติดตามประเมินอาการท้องผูกทุกวันไม่เกิน 7 วัน โดยใช้เครื่องมือประเมินอาการท้องผูก ดัดแปลงจาก The Constipation Assessment Scale สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล t-test และ fisher’s exact โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป
                ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วย 62 คน เป็นกลุ่มควบคุม 32 คน กลุ่มทดลอง 30 คน ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 70-79 ปี การศึกษาระดับประถมศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ประวัติของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มที่อาจทำให้เกิดอาการท้องผูก คือประวัติการดื่มเครื่องดื่มประเภทคาเฟอีนเป็นประจำ (p = .04) ความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรมไม่แตกต่างกัน ทั้งด้านการรับรู้และความสามารถในการสื่อความต้องการของผู้ป่วย (p = .610) และความสามารถในการปฏิบัติตามข้อแนะนำของผู้ป่วย (p = .347) ผู้ป่วยกลุ่มที่ใช้แนวปฏิบัติเพื่อป้องกันอาการท้องผูกมีอาการท้องผูกน้อยกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = .020) อาการท้องผูกที่พบมากคือ อาการอืดแน่นท้อง (68.4%) มีการเปลี่ยนแปลงของปริมาณก๊าซที่ผ่านทางทวารหนัก (63.2%) และการเคลื่อนไหวของลำไส้ลดลง (63.2%) รองลงมาคือ ต้องใช้แรงเบ่งขณะถ่ายอุจจาระ (42.0%) ใช้เวลาถ่ายอุจจาระนาน (42.0%) และอุจจาระเป็นก้อนแข็ง (42.0%)
                ผลการวิจัยนี้ แสดงให้เห็นว่าควรพิจารณานำแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันอาการท้องผูกในผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์สูงอายุที่ถูกจำกัดการเคลื่อนไหวไปใช้ต่อไป
ที่มา
วารสารวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์ ปี 2556, July-December ปีที่: 4 ฉบับที่ 2 หน้า 1-13
คำสำคัญ
ผู้สูงอายุ, Clinical Practice Guideline, Constipation, Aging, Randomized Clinical Trial, อาการท้องผูก, แนวทางการปฏิบัติ, การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มเข้ากลุ่ม