คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังตามแบบวัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกฉบับย่อภาษาไทย
กุลธิดา ไชยจินดา*, ภิญญุภา เปลี่ยนบางช้าง, เอกวีร์ ศรีปริวุฒิ, กัญชลี เจติยานนท์
ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อวัดระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังโดยใช้แบบวัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกฉบับย่อภาษาไทย
วิธีการ: การวิจัยเชิงพรรณนาครั้งนี้ใช้การเลือกตัวอย่างแบบบังเอิญ เก็บข้อมูลจากผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกโรคทางเดินอาหารของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ระหว่างเดือนธันวาคม 2551 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2552 โดยการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์ที่ประกอบด้วยแบบวัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกฉบับย่อภาษาไทย และคำถามเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติเชิงพรรณนา
ผลการวิจัย: มีผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังที่ยินยอมเข้าร่วมการวิจัยครั้งนี้ทั้งสิ้น 85 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ร้อยละ 76.5) สมรสแล้ว (ร้อยละ 82.5) กว่าครึ่งของผู้ป่วย (ร้อยละ 55.3) ใช้สิทธิระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เมื่อพิจารณาระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยตามแบบวัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลก (ฉบับย่อ) พบว่า ผู้ป่วยมีค่าเฉลี่ย±ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของคุณภาพชีวิตด้านร่างกาย จิตใจ สัมพันธภาพทางสังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตโดยรวมเท่ากับ 24.40±3.86, 20.92±5.12, 10.83±2.34, 30.31±4.50 และ 103.51±13.00 ตามลำดับ
สรุป: ผลการวิจัยแสดงว่า แม้ความเจ็บป่วยด้วยโรคตับเรื้อรังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย แต่ในภาพรวม ผู้ป่วยในการศึกษานี้ยังคงมีคุณภาพชีวิตในระดับดี บุคลากรสุขภาพควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย รวมทั้งมีมาตรการในการเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับสังคมรอบข้าง
ที่มา
วารสารเภสัชกรรมไทย ปี 2554, July-December ปีที่: 3 ฉบับที่ 2 หน้า 35-40
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, WHOQOL-BREF-THAI, คุณภาพชี่วิต, Chronic liver disease, โรคตับเรื้อรัง, แบบวัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลก