ศึกษาความคุ้มค่าในการใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ (T5) ขนาด 14 วัตต์ เปรียบเทียบกับหลอดฟลูออเรสเซนต์ (T8) ขนาด 18 วัตต์ในการรักษาทารกแรกเกิดที่มีปัญหาตัวเหลืองที่ไม่ได้เกิดจากภาวะเม็ดเลือดแดงแตกในโรงพยาบาลเลิดสิน
วิพัฒน์ เจริญศิริวัฒน์
กลุ่มงานกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลเลิดสิน
บทคัดย่อ
บทนำ: การศึกษาก่อนหน้านี้ พบว่า หลอดฟลูออเรสเซนต์ (T5) ขนาด 14 วัตต์ สามารถใช้ทดแทนหลอดฟลูออเรสเซนต์ ชนิด T8 ขนาด 18 วัตต์ได้ โดยผลการรักษาทารกแรกเกิดที่มีปัญหาตัวเหลืองที่ไม่ได้เกิดจากภาวะเม็ดเลือดแดงแตกไม่พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
วัตถุประสงค์: การศึกษาครั้งนี้เพื่อศึกษาอายุการใช้งานของหลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิด T5 ขนาด 14 วัตต์ เปรียบเทียบกับหลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิด T8 ขนาด 18 วัตต์ ในการนำมาใช้เพื่อการรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด และนำมาศึกษาต้นทุนด้านพลังงานและต้นทุนการใช้งาน เปรียบเทียบระหว่างหลอดทั้งสองชนิด
วิธีการศึกษา: ตรวจวัดความเข้มของแสงจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิด T5 ขนาด 14 วัตต์ 8 หลอด เปรียบเทียบกับความเข้มของแสงจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิด T8 18 วัตต์ 8 หลอดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ดูการเปลี่ยนแปลงความเข้มของแสงตามอายุการใช้งานจนสิ้นสุดเมื่อความเข้มของแสงลดต่ำกว่า 6 µW/cm2/nm และศึกษาต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าและต้นทุนการใช้งานของหลอดทั้งสองชนิดเปรียบเทียบกัน เพื่อศึกษาความคุ้มค่าในการใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิด T5 ขนาด 14 วัตต์ 8 หลอด ในการรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดที่ไม่ได้เกิดจากภาวะเม็ดเลือดแดงแตก
ผลการศึกษา: หลอดประหยัดไฟฟ้า (T5) ขนาด 14 วัตต์จำนวน 8 หลอด สามารถให้ความเข้มแสงได้เพียงพอในการรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกได้ (> 6 µW/cm2/nm) โดยที่ระยะห่าง 30 เซนติเมตร สามารถให้ความเข้มของแสงที่เพียงพอได้ 6,200 ชั่วโมง และที่ระยะห่าง 40 เซนติเมตร สามารถใช้งานได้นาน 2,600 ชั่วโมง เปรียบเทียบกับหลอดฟลูออเรสเซนต์ T8 ขนาด 18 วัตต์ ที่ใช้อยู่เดิมที่ระยะห่าง 30 เซนติเมตร สามารถใช้งานได้นาน 2,700 ชั่วโมงและที่ระยะห่าง 40 เซนติเมตร สามารถใช้งานได้นาน 1,600 ชั่วโมง และอัตราการใช้พลังงานของชุดหลอด Fluorescent daylight (T8) ขนาด 18 วัตต์ จำนวน 8 หลอด เปรียบเทียบกับชุดหลอด Fluorescent daylight (T5) ขนาด 14 วัตต์ จำนวน 8 หลอดเท่ากับ 5.376 ยูนิต/วัน : 3.456 ยูนิต / วัน เมื่อคำนวณค่าไฟฟ้า เปรียบเทียบกันเท่ากับ 16.128 บาท/วัน: 10.368 บาท/วัน (คิดค่าไฟ 3 บาทต่อยูนิต) อายุการใช้งานที่นานกว่า ทำให้ต้นทุนค่าหลอดไฟ T8:T5 เท่ากับ 4.32 บาท/วัน: 2.688 บาท/วัน
สรุป: การรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดโดยวิธีการส่องไฟด้วยหลอด Fluorescent ชนิด Daylight รุ่น T5 ขนาด 14 วัตต์ จำนวน 8 หลอด มีประสิทธิภาพในการให้ความเข้มของแสงที่เพียงพอต่อการรักษาภาวะตัวเหลือง มีความคุ้มค่าในการใช้งานในการรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดที่ไม่ได้จากการแตกของเม็ดเลือดแดงมากกว่าการใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์รุ่น T8 ขนาด 18 วัตต์ 8 หลอด
ที่มา
วารสารกุมารเวชศาสตร์ ปี 2555, October-December ปีที่: 51 ฉบับที่ 4 หน้า 287-295
คำสำคัญ
Neonatal non-hemolytic jaundice, Phototherapy with T5 (14 watt) fluorescent tubes, Phototherapy with T8 (18 watt) fluorescent tubes, ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดที่ไม่ได้เกิดจากภาวะเม็ดเลือดแดงแตก, การส่องไฟด้วยหลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิด T5 14 วัตต์, การส่องไฟด้วยหลอดฟลูออเรสเซนต์ T8 18 วัตต์