ประโยชน์ของกลุ่มช่วยเหลือตนเองต่อผู้สูงอายุไทยในชนบทที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
อริสรา สุขวัจนี*, คนึงนิจ พงศ์ถาวรกมล, Gail Low, นันทวัน สุวรรณรูป, วันเพ็ญ ภิญโญภาสกุล, สุรชัย โชคครรชิตไชย
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ ประเทศไทย
บทคัดย่อ
                วัตถุประสงค์ของการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในผู้สูงอายุไทยในชนบทที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นี้เพื่อ: (1) ศึกษาการรับรู้เกี่ยวกับประสบการณ์การมีส่วนร่วมในกลุ่มช่วยเหลือตนเองว่าส่งผลต่อความสามารถดูแลตนเองและคุณภาพชีวิตอย่างไรและ (2) เปรียบเทียบคะแนนความสามารถดูแลตนเอง คุณภาพชีวิตและระดับน้ำตาลในเลือดก่อนและหลังการมีส่วนร่วมในกลุ่มช่วยเหลือตนเอง การวิจัยนี้ได้แนวคิดจากแผนพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550-2554 ที่ส่งเสริมให้มีการสำรวจความต้องการและพัฒนากลุ่มช่วยเหลือตนเองสำหรับผู้สูงอายุในชนบท ประกอบกับการที่ผู้สูงอายุไทยในชนบทที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ประสบกับภาวะแทรกซ้อนของโรคและอุปสรรคหลายประการในการดูแลตนเองอันก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต ได้มีการนำทฤษฎีวิพากษ์สังคม (Critical Social Theory) มาเป็นกรอบแนวคิดสำหรับการทำวิจัย เก็บข้อมูลจากการมีส่วนร่วมในกลุ่มช่วยเหลือตนเองและแบบสอบถาม ผู้ร่วมวิจัย 20 คนถูกคัดเลือกจากรายชื่อผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ขึ้นทะเบียนผู้ป่วยไว้ที่สถานีอนามัยของหมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดหนึ่งของภาคกลาง ผู้ร่วมวิจัยได้เข้าร่วมกลุ่มช่วยเหลือตนเองทุกสองสัปดาห์เป็นเวลา 6 เดือน ข้อมูลเชิงคุณภาพจากการประชุมกลุ่มและการสังเกตถูกนำมาวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ข้อมูลเชิงปริมาณอันประกอบด้วยระดับน้ำตาลในเลือด แบบสอบถามเกี่ยวกับความสามารถดูแลตนเองและคุณภาพชีวิตทั้งก่อนและหลังเข้าร่วมกลุ่มช่วยเหลือตนเองได้นำมาวิเคราะห์หาค่าความแตกต่างด้วยสถิติ paired-samples t test
                จากการเข้ากลุ่มช่วยเหลือตนเองพบประโยชน์ที่ผู้ร่วมวิจัยได้รับ 4 ด้านคือ ความรู้ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น (culturally-sensitive knowledge) การช่วยเหลือทางสังคม ความมีพลังอำนาจและการรับรู้ความสามารถตนเอง (self-efficacy) ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับรู้ความสามารถตนเองได้ส่งเสริมให้ผู้ร่วมวิจัยมีกิจกรรมการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้น นอกจากนี้ พบว่าการเข้ากลุ่มช่วยเหลือตนเองทำให้ผู้ร่วมวิจัยมีคะแนนความสามารถดูแลตนเองและคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้นและมีระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหารเช้าลดลง กลุ่มช่วยเหลือตนเองนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุไทยในชนบทที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่สอง
ที่มา
Pacific Rim International Journal of Nursing Research ปี 2554, July-September ปีที่: 15 ฉบับที่ 3 หน้า 220-233
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, ระดับน้ำตาลในเลือด, Self-help group, โรคเบาหวานชนิดที่ 2, self-efficacy, Type-2 diabetes, คุณภาพชี่วิต, Blood glucose levels, ความสามารถดูแลตนเอง, กลุ่มช่วยเหลือตนเอง