ผลของโปรแกรมการจัดการตนเองต่ออาการหายใจลำบากและความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกายของผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเลือดคั่ง
ธนากรณ์ แก้วยก*, อภิญญา วงศ์พิริยโยธา, วลัยพร นันท์ศุภวัฒน์
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
บทคัดย่อ
                ภาวะหัวใจล้มเหลวเลือดคั่งเป็นความเจ็บป่วยเรื้อรัง ที่เกิดจากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอ อาการหายใจลำบากเป็นอาการที่พบบ่อยของภาวะหัวใจล้มเหลวเลือดคั่งที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกายและการทำกิจกรรมประจำวันของผู้ป่วย การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง แบบสุ่มสองกลุ่มวัดก่อนและหลังการทดลอง มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการจัดการตนเองต่ออาการหายใจลำบาก และความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกายของผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเลือดคั่ง โดยใช้แนวคิดการจัดการตนเองที่พัฒนาโดย Creer เป็นกรอบแนวคิดในการวิจัย กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเลือดคั่งที่มารับบริการที่โรงพยาบาลอำนาจเจริญ จำนวน 30 คน กลุ่มตัวอย่างได้รับการสุ่มเข้าสู่กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 15 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการจัดการตนเอง ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ เก็บรวบรวมข้อมูลภายใน 6 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบวัดอาการหายใจลำบากของบอร์ก (Borg scale) และแบบประเมินความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกาย (The Veterans Specific Activity Questionnaire) ค่าความเชื่อมั่นโดยวิธีหาสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สันแบบวัดอาการหายใจลำบาก เท่ากับ .80 และแบบประเมินความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกายเท่ากับ .86 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ paired t-test และ t-test
                ผลการวิจัยผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเลือดคั่งที่ได้รับโปรแกรมการจัดการตนเองมีคะแนนเฉลี่ยอาการหายใจลำบากต่ำกว่าก่อนได้รับโปรแกรมและต่ำกว่าที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ (p < .05) และคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกายสูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมและสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ (p < .05) โดยสรุป พบว่า โปรแกรมการจัดการตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวเลือดคั่ง สามารถทำให้อาการหายใจลำบากในผู้ป่วยล้มเหลวเลือดคั่งลดลง ส่งผลให้ความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกายสูงขึ้น
ที่มา
วารสารสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2554, April-June ปีที่: 29 ฉบับที่ 2 หน้า 35-41
คำสำคัญ
Dyspnea, Self- Management Program, Congestive Heart Failure, โปรแกรมการจัดการตนเอง, อาการหายใจลำบาก, ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวเลือดคั่ง