ผลของการให้คำปรึกษารายบุคคลตามแนวทฤษฎีการปรับพฤติกรรมทางปัญญาที่มีต่อความคิดเชิงบวกและภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
ฉัตรระพี ซิมทิม*, เพ็ญนภา กุลนภาดล, ภรภัทร เฮงอุดมทรัพย์
มหาวิทยาลัยบูรพา
บทคัดย่อ
                การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการปรึกษารายบุคคลตามแนวทฤษฏีการปรับพฤติกรรมทางปัญญาที่มีต่อความคิดเชิงบวกและภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าของคลินิกสุขภาพจิตและจิตเวชโรงพยาบาลตาคลี จำนวน 36 คน ที่มีอายุ 35-55 ปี ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคซึมเศร้า ได้รับการรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไป โดยไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนขนาดของยาในระหว่างการให้การปรึกษา ทำแบบวัดภาวะซึมเศร้า Hamilton Rating Scale for Depression ฉบับภาษาไทย (Thai HRSD) มีคะแนนซึมเศร้าตั้งแต่ระดับอ่อนจนถึงระดับปานกลาง (8-17 คะแนน) มีคะแนนความคิดเชิงบวก จากการทำแบบวัดความคิดเชิงบวกตั้งแต่เปอร์เซนต์ไทล์ที่ 25 ลงมาและสมัครใจเข้าร่วมการวิจัยจำนวน 36 คน แล้วนำมาสุ่มอย่างง่าย โดยวิธีจับฉลากเข้าเป็นกลุ่มทดลอง 18 คน และกลุ่มควบคุม 18 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบวัดภาวะซึมเศร้า Hamilton Rating Scale for Depression ฉบับภาษาไทย แบบวัดความคิดเชิงบวกและโปรแกรมการให้การปรึกษารายบุคคลตามทฤษฎี การปรับพฤติกรรมทางปัญญา
                ผู้วิจัยดำเนินการทดลองการให้คำปรึกษากลุ่ม จำนวน 11 ครั้ง ครั้งละ 45-60 นาที ทำการประเมินความคิดเชิงบวกใน 3 ระยะ คือ ก่อนการทดลอง หลังการทดลอง และติดตามผล วิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำประเภทหนึ่งตัวแปรระหว่างกลุ่มและหนึ่งตัวแปรภายในกลุ่ม และทดสอบความแตกต่างรายคู่โดยวิธีนิวแมนคูลส์
                ผลการศึกษาพบว่า มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิธีการทดลองกับระยะเวลาการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีคะแนนความคิดเชิงบวกหลังการทดลองแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลุ่มทดลอง มีคะแนนความคิดเชิงบวกในระยะติดตามผลสูงกว่าบุคคลที่มีภาวะซึมเศร้ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลุ่มทดลองมีคะแนนความคิดเชิงบวกภายหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลุ่มทดลองมีความคิดเชิงบวกในระยะติดตามผลสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลุ่มทดลอง มีคะแนนความคิดเชิงบวกในระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผลแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ และผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีภาวะซึมเศร้าลดลงผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ได้รับการปรึกษารายบุคคลตามแนวทฤษฎีการปรับพฤติกรรมทางปัญญา มีคะแนนภาวะซึมเศร้าต่ำกว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ได้รับการปรึกษาตามวิธีปกติหลังการทดลองแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ได้รับการปรึกษารายบุคคลตามแนวทฤษฎีการปรับพฤติกรรมทางปัญญา มีคะแนนภาวะซึมเศร้าในระยะติดตามผลต่ำกว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ได้รับการปรึกษาตามวิธีปกติแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ได้รับการปรึกษารายบุคคลตามแนวทฤษฎีการปรับพฤติกรรมทางปัญญา มีคะแนนภาวะซึมเศร้าภายหลังการทดลอง ต่ำกว่าก่อนการทดลอง แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
                โปรแกรมการให้การปรึกษารายบุคคลตามแนวทฤษฎีการปรับพฤติกรรมทางปัญญานี้สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เพื่อให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้มีการฝึกทักษะทางความคิด เปิดมุมมองและโลกทัศน์ให้มากขึ้น
ที่มา
วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปี 2555, October-December ปีที่: 20 ฉบับที่ 4 หน้า 79-91
คำสำคัญ
Depressive Patients, Positive thinking, cognitive behavior counseling, ความคิดเชิงบวก, ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า, การให้การปรึกษาตามแนวทฤษฎีการปรับพฤติกรรมทางปัญญา