คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะภายหลังการผ่าตัดทำทางเดินปัสสาวะใหม่
ขนิษฐา รัตนกัลยา*, ภารดี นานาศิลป, นัทธมน วุทธานนท์
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทคัดย่อ
                การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาเพื่อศึกษาและเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะภายหลังการผ่าตัดทำทางเดินปัสสาวะใหม่ที่มีแตกต่างกันในด้าน อายุ อาชีพ สถานภาพสมรส ความเพียงพอของรายได้ และชนิดของทางเดินปัสสาวะใหม่ กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดทำทางเดินปัสสาวะใหม่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ระหว่างเดือนมกราคม 2545 ถึง ธันวาคม 2550 จำนวน 48 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลทั่วไปและแบบวัดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ทดสอบความเชื่อมั่นของเครื่องมือด้วยวิธีครอนบาคแอลฟาได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .86 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวและทดสอบค่าที
                ผลการวิจัยพบว่า คะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะภายหลังการผ่าตัดทำลายทางเดินปัสสาวะใหม่อยู่ในระดับปานกลาง (X bar = 101.92, SD. = 20.60) โดยคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตด้านร่างกาย ด้านสังคม/ครอบครัว ด้านการปฏิบัติกิจกรรมและด้านอารมณ์อยู่ในระดับสูง (X bar =21.27, SD. = 5.97, X bar = 19.54, SD = 5.04, X bar = 19.04, SD. = 7.75 และ X bar = 17.67, SD. = 5.80 ตามลำดับ) ในขณะที่ด้านอื่นๆ เพิ่มเติม มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับ ปานกลาง (X bar = 29.71, SD. = 6.50)
                คุณภาพชีวิตโดยรวมและรายด้านของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะภายหลังการผ่าตัดทำทางเดินปัสสาวะใหม่ที่มีอาชีพ สถานภาพสมรส ชนิดของทางเดินปัสสาวะใหม่แตกต่างกัน มีคุณภาพชีวิตไม่แตกต่างกัน ส่วนคุณภาพชีวิตโดยรวมและคุณภาพชีวิตด้านการปฏิบัติกิจกรรมของผู้ป่วยที่มีช่วงอายุต่างกันมีคุณภาพชีวิตแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05, คุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ป่วยที่มีความเพียงพอของรายได้แตกต่างกัน มีคุณภาพชีวิตแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และคุณภาพชีวิตด้านร่างกายและด้านปฏิบัติกิจกรรมของผู้ป่วยที่มีความเพียงพอของรายได้แตกต่างกัน มีคุณภาพชีวิตแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
                ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตด้านความผาสุกด้านสังคม/ครอบครัวและด้านอื่นๆ เพิ่มเติม ในเรื่องเกี่ยวกับทางเพศอยู่ในระดับต่ำแสดงว่าผู้ป่วยกำลังมีปัญหาเกิดความบกพร่องทางเพศ (sexual dysfunction) ดังนั้นควรจัดให้มีคลินิกให้คำปรึกษาด้านเพศ (sex therapy) แก่ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบและควรมีการวัดคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ตั้งแต่ระยะก่อนผ่าตัดและหลังผ่าตัดเป็นระยะๆ เพื่อเปรียบเทียบได้อย่างชัดเจนรวมทั้งพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาลเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น
ที่มา
วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปี 2553, April-June ปีที่: 18 ฉบับที่ 2 หน้า 34-50
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Radical cystectomy, คุณภาพชี่วิต, Bladder cancer, Urinary diversion, มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ, การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะ, ทางเดินปัสสาวะใหม่