ผลของการใช้โปรแกรมวางแผนการจำหน่ายต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองและคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับยาเคมีบำบัด
อุบล จ๋วงพานิช*, ณัฏฐ์ชญา ไชยวงษ์, จุรีพร อุ่นบุญเรือง
โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
                การศึกษาครั้งนี้เป็นวิจัยกึ่งทดลองเพื่อศึกษาผลของการใช้โปรแกรมการวางแผนการจำหน่ายต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองและคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับยาเคมีบำบัด กรอบแนวคิดในการศึกษาครั้งนี้ ใช้แนวคิดของการวางแผนการจำหน่ายของ Hucy และคณะ และทฤษฎีการพยาบาลของโอเร็ม
                กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยหลังผ่าตัดเต้านมและได้รับการรักษาเสริมด้วยยาเคมีบำบัดที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 30 คน ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ 2550-กุมภาพันธ์ 2551 โดยเลือกตัวอย่างตามเกณฑ์ที่กำหนดด้วยวิธีสุ่ม แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มทดลอง ได้รับโปรแกรมการวางแผนการจำหน่ายก่อนได้รับยาเคมีบำบัด 1 วัน และกลุ่มควบคุมได้รับการวางแผนการจำหน่ายตามปกติ จากพยาบาลประจำการ
                การวางแผนการจำหน่าย สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับยาเคมีบำบัดประกอบด้วยวีดีทัศน์เรื่องการรักษาและการดูแลตนเองเมื่อได้รับยาเคมีบำบัดและคู่มือการดูแลตนเองที่บ้านสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับยาเคมีบำบัด เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบวัดพฤติกรรมการดูแลตนเอง และแบบประเมินคุณภาพชีวิต ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มได้รับการประเมินพฤติกรรมการดูแลตนเองและคุณภาพชีวิต ก่อนให้ยาเคมีบำบัด 1 วัน หลังจากนั้นกลุ่มควบคุมได้รับข้อมูลตามปกติจากพยาบาล ผู้ป่วยกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการวางแผนการจำหน่ายก่อนได้รับยาเคมีบำบัด 1 วัน ก่อนกลับบ้านผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มได้รับการประเมินการรับรู้ก่อนจำหน่าย หลังให้ยาเคมีบำบัด 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มได้รับการประเมินพฤติกรรมการดูแลตนเองและคุณภาพชีวิต วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม
                ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยของพฤติกรรมการดูแลตนเองและคุณภาพชีวิตสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 ผลวิจัยดังกล่าวทำให้พยาบาลประจำการ สามารถนำโปรแกรมการวางแผนจำหน่ายมาใช้ในหน่วยงานได้ตรงกัน ทำให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ การเผยแพร่นวตกรรม คือ วิดิทัศน์ คู่มือการดูแลตนเองที่บ้านและการดูแลต่อเนื่องสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับยาเคมีบำบัด ทำให้หน่วยงานอื่นๆ ที่มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับยาเคมีบำบัดในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ สามารถนำโปรแกรมนี้ไปใช้ได้อย่างได้ผล
ที่มา
วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปี 2551, July-September ปีที่: 16 ฉบับที่ 3 หน้า 32-42
คำสำคัญ
Quality of life, chemotherapy, คุณภาพชีวิต, พฤติกรรมการดูแลตนเอง, SELF-CARE, ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม, การวางแผนจำหน่าย, ยาเคมีบำบัด, คุณภาพชี่วิต, Discharge planning, mastectomy patients