ประสิทธิผลของโปรแกรมการหย่าเครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะการหายใจล้มเหลว ต่อความสำเร็จของการหย่าเครื่องช่วยหายใจและระยะเวลาการใช้เครื่องช่วยหายใจ
เพ็ญศรี ละออ*, สุภาภรณ์ ด้วงแพง, วัลภา คุณทรงเกียรติ, เขมารดี มาสิงบุญ
หอผู้ป่วยหนัก โรงพยาบาลนครนายก
บทคัดย่อ
                การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบ 2 กลุ่มวัดผลหลังการทดลอง เพื่อศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมการหย่าเครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะการหายใจล้มเหลว ต่อความสำเร็จของการหย่าเครื่องช่วยหายใจและระยะเวลาการใช้เครื่องช่วยหายใจ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่มีภาวการณ์หายใจล้มเหลวได้รับเครื่องช่วยหายใจและรักษาอยู่ในหอผู้ป่วยหนัก โรงพยาบาลนครนายก  จำนวน 40 ราย สุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง กลุ่มละ 20 ราย กลุ่มทดลองได้รับการหย่าเครื่องช่วยหายใจตามโปรแกรมการหย่าเครื่องช่วยหายใจที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น โดยบูรณาการแนวคิดความร่วมมือการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างแพทย์และพยายามเข้ากับกระบวนการหย่าเครื่องช่วยหายใจ กลุ่มควบคุมได้รับการหย่าเครื่องช่วยหายใจตามวิธีปกติที่แพทย์และพยาบาลให้การดูแลและปฏิบัติตามมาตรฐานของแต่ละวิชาชีพและประสบการณ์ของตนเอง ประเมินประสิทธิผล โดยวัดความสำเร็จของการหย่าเครื่องช่วยหายใจและระยะเวลาการใช้เครื่องช่วยหายใจ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสถิติไค-สแควร์ ค่าสถิติพิชเชอร์และค่าสถิติที ผลการวิจัยพบว่า
  1. ผู้ป่วยที่ได้รับการหย่าเครื่องช่วยหายใจตามโปรแกรมการหย่าเครื่องช่วยหายใจ มีผลการหย่าเครื่องช่วยหายใจได้สำเร็จมากกว่าผู้ป่วยที่ได้รับการหย่าเครื่องช่วยหายใจตามวิธีปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
  2. ผู้ป่วยที่ได้รับการหย่าเครื่องช่วยหายใจตามโปรแกรมการหย่าเครื่องช่วยหายใจ มีระยะเวลาเฉลี่ยของการใช้เครื่องช่วยหายใจ น้อยกว่าผู้ป่วยที่ได้รับการหย่าเครื่องช่วยหายใจตามวิธีปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า โปรแกรมการหย่าเครื่องช่วยหายใจที่บูรณาการแนวคิดความร่วมมือการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างแพทย์กับพยาบาลเข้ากับกระบวนการหย่าเครื่องช่วยหายใจ สามารถช่วยผู้ป่วยที่มีภาวะการหายใจล้มเหลวให้หย่าเครื่องช่วยหายใจสำเร็จได้มากขึ้น และมีระยะเวลาการใช้เครื่องช่วยหายใจน้อยลง ซึ่งบุคลากรสุขภาพที่ดูแลผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ ในการดูแลผู้ป่วยดังกล่าว รวมทั้งทำการวิจัยเพื่อขยายผลการวิจัยต่อไป
ที่มา
วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปี 2550, April-June ปีที่: 15 ฉบับที่ 2 หน้า 11-22
คำสำคัญ
Weaning ventilator protocal, weaning mechanical ventilator, respiratory failure, โปรแกรมการหย่าเครื่องช่วยหายใจ, การหย่าเครื่องช่วยหายใจ, ภาวะการหายใจล้มเหลว