การศึกษานำร่องผลการรักษาและความพึงพอใจของผู้ป่วยโรคนิ้วล็อกต่อการใช้อุปกรณ์พยุงข้อโคนนิ้วมือ: การวิจัยแบบสุ่มมีกลุ่มควบคุม
สุรเมศวร์ ศิริจารุวงศ์*, จักรกริช กล้าผจญ, คณิตศ์ สนั่นพานิช, สยาม ทองประเสริฐ
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาถึงผลการรักษาและความพึงพอใจของผู้ป่วยโรคนิ้วล็อกต่อการใช้อุปกรณ์พยุงข้อโคนนิ้วมือ
รูปแบบการวิจัย: การวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม
สถานที่ทำการวิจัย: ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟูและออร์โทปิดิกส์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
กลุ่มประชากร: ผู้ป่วยโรคนิ้วล็อกจำนวน 32 คน
วิธีการศึกษา: ซักประวัติข้อมูลพื้นฐานทั่วไปและตรวจร่างกายเพื่อประเมินระดับความรุนแรงของโรค คะแนนความเจ็บปวดเฉลี่ย จากนั้นแบ่งผู้เข้าร่วมวิจัยออกเป็นกลุ่มทดลอง (ใส่อุปกรณ์พยุงข้อโคนนิ้วมือ) และกลุ่มควบคุม (ใส่อุปกรณ์พยุงนิ้วมือรูปวงแหวน) ด้วยโปรแกรมการสุ่มสำเร็จรูป ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มจะสวมใส่อุปกรณ์พยุงนิ้วมือชนิดผลิตขึ้นเองเป็นเวลา 6 สัปดาห์พร้อมกับได้รับยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (ไอบูโพรเฟ่น 1200 มก./วัน) เป็นเวลา 1 สัปดาห์ จากนั้นเมื่อครบ 6 สัปดาห์จึงประเมินผลการรักษาโดวัดการเปลี่ยนแปลงจำนวนครั้งการเกิดนิ้วล็อกหรือสะดุดเมื่อทำการกำและแบมือให้สุด 10 ครั้งติดต่อกันและวัดการเปลี่ยนแปลงคะแนนความเจ็บปวด ก่อนและหลังการใส่อุปกรณ์พยุงนิ้วมือ รวมทั้งประเมินความพึงพอใจภายหลังการใส่อุปกรณ์พยุงนิ้วมือ
ผลการศึกษา: ณ สัปดาห์ที่ 6 พบว่า กลุ่มที่ใส่อุปกรณ์พยุงข้อโคนนิ้วมือมีจำนวนครั้งการเกิดนิ้วสะดุดและคะแนนความเจ็บปวด ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P = 0.046 และ 0.001 ตามลำดับ) แต่เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ใส่อุปกรณ์พยุงนิ้วมือรูปวงแหงน พบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P > 0.05) ของจำนวนครั้งการเกิดนิ้วล็อกที่ลดลง (ค่ามัธยฐาน = 0.0 ทั้งสองกลุ่ม; P = 0.087) จำนวนครั้งการเกิดนิ้วสะดุดที่ลดลง (ค่ามัธยฐาน = 1.0 และ 3.0 ตามลำดับ; P = 0.221) คะแนนความเจ็บปวดที่ลดลง (ค่าเฉลี่ย = 2.1 และ 1.7 ตามลำดับ; P = 0.471) และคะแนนความพึงพอใจ (ค่ามัธยฐาน = 7.5 และ 7.0 ตามลำดับ; P = 0.716)
สรุป: การใส่อุปกรณ์พยุงข้อโคนนิ้วมือนาน 6 สัปดาห์ สามารถลดจำนวนครั้งการเกิดนิ้วสะดุดและลดระดับความเจ็บปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่เมื่อเปรียบเทียบการใส่อุปกรณ์พยุงนิ้วมือรูปวงแหวน แสดงผลการรักษาทางคลินิกและความพึงพอใจ ที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตามควรที่จะมีการศึกษาเพิ่มเติมกับจำนวนกลุ่มผู้ป่วยโรคนิ้วล็อกที่เพียงพอต่อไป
ที่มา
เวชศาสตร์ฟื้นฟูสาร ปี 2555, September ปีที่: 22 ฉบับที่ 3 หน้า 80-88
คำสำคัญ
ความพึงพอใจ, ผลการรักษา, Trigger finger patient, metacarpophalangeal splint, treatment outcomes and satisfaction, ผู้ป่วยโรคนิ้วล็อก, อุปกรณ์พยุงข้อโคนนิ้วมือ