การเปรียบเทียบผลการขยับข้อต่อร่วมกับการเคลื่อนไหวข้อต่อด้วยเทคนิคมูลลิแกน กับการรักษาแบบดั้งเดิมในผู้ป่วยปวดไหล่ที่จำกัดการเคลื่อนไหว
สกุลรัตน์ อัศวโกสินชัย
กลุ่มงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลการขยับข้อต่อร่วมกับการเคลื่อนไหวข้อต่อ ด้วยเทคนิคมูลลิแกน ต่อพิสัยการเคลื่อนไหว ระดับความปวดและการทำงานของข้อไหล่ในผู้ป่วยปวดไหล่ที่จำกัดการเคลื่อนไหว
วิธีดำเนินการ: การศึกษาเชิงทดลอง (Experimental study) จำนวน 28 คน เป็นผู้ป่วยที่มีอาการปวดไหล่ที่จำกัดการเคลื่อนไหว ถูกสุ่มเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้รับการรักษาด้วยเทคนิคมูลลิแกน กลุ่มที่ 2 ได้รับการรักษาแบบดั้งเดิมจำนวน กลุ่มละ 14 คน (อายุเฉลี่ย 55.18 ปี) ทั้งสองกลุ่มได้รับการรักษาสัปดาห์ละ 3 วัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ วัดผลด้วย พิสัยการเคลื่อนไหว ดัชนีความปวดและความไม่สามารถทำกิจกรรม เปรียบเทียบก่อนและสิ้นสุดการรักษา ภายในกลุ่ม โดยสถิติ paired t-test และระหว่างกลุ่มโดย ANOVA
ผลการศึกษา: ผลการศึกษาทั้งสองโปรแกรมมีพิสัยการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น มีระดับความปวดลดลงและความไม่สามารถทำกิจกรรมลดลง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงระหว่างกลุ่ม พบว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วย เทคนิคมูลลิแกน มีระดับความปวดลดลงจาก 32.93 เป็น 8.36 คะแนน และความไม่สามารถทำกิจกรรมลดลงจาก 47.5 เป็น 9.71 คะแนน กลุ่มที่ได้รับการรักษาแบบดั้งเดิม มีระดับความปวดลดลงจาก 33.67 เป็น 18.5 คะแนน และความไม่สามารถทำกิจกรรมลดลงจาก 52.79 เป็น 28.93 คะแนน กลุ่มที่รักษาด้วยเทคนิคมูลลิแกนมีระดับความปวด และความไม่สามารถทำกิจกรรมข้อไหล่ ลดลงเฉลี่ยมากกว่ากลุ่มที่รักษาแบบดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ส่วนพิสัยการเคลื่อนไหวมีการเพิ่มขึ้นไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p >0.05) ระหว่างกลุ่ม
สรุปผล: ผลการขยับข้อต่อร่วมกับการเคลื่อนไหวข้อต่อด้วยเทคนิคมูลลิแกนให้ผลในการลดปวด และเพิ่มความสามารถในการทำงานของข้อไหล่ได้ดีมากกว่าการรักษาแบบดั้งเดิม ในผู้ป่วยปวดไหล่ที่จำกัดการเคลื่อนไหว
 
ที่มา
วารสารศูนย์การศึกษาแพทยศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า ปี 2555, October-December ปีที่: 29 ฉบับที่ 4 หน้า 270-282