ผลของโปรแกรมการส่งเสริมการจัดการตนเองต่อพฤติกรรมการจัดการตนเอง ภาวะหายใจลำบาก ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันและคุณภาพชี่วิตของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว
ลดาวัลย์ ฤทธิ์กล้า*, ชดช้อย วัฒนะ, พีระพงศ์ กิติภาวงค์
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทคัดย่อ
                ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญของประชากรทั่วโลก โดยมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การส่งเสริมการจัดการตนเองมีความสำคัญในการควบคุมโรคและการลดภาวะแทรกซ้อน การวิจัยเชิงทดลองครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการส่งเสริมการจัดการตนเองต่อ พฤติกรรมการจัดการตนเอง ภาวะหายใจลำบาก ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว โดยศึกษาในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวระดับที่ 2 และ 3 จำนวน 48 ราย ที่มารับบริการที่แผนกผู้ป่วยในและการติดตามการรักษาต่อเนื่องที่ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน 2554 โดยทำการสุ่มกลุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 24 ราย กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมส่งเสริมการจัดการตนเองที่พัฒนาขึ้นจากแนวคิดการจัดการตนเองของเครียร์ (Creer, 2000) ประกอบด้วยการให้ความรู้เป็นรายบุคคล การฝึกทักษะการจัดการตนเองในการควบคุมอาการกำเริบและติดตามเยี่ยมทางโทรศัพท์ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ เก็บรวบรวมข้อมูลก่อนเข้าร่วมโครงการ หลังเข้าร่วมโครงการ 4 สัปดาห์ และ 12 สัปดาห์ โดยแบบประเมินอาการ หายใจลำบากของเบิร์ก แบบประเมินพฤติกรรมการจัดการตนเองในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว แบบประเมินการปฏิบัติกิจวัตร ประจำวันของนาคากาวา-โคแกนและแบบประเมินคุณภาพชีวิต โดยผ่านการตรวจสอบความตรง ตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ทดสอบความเชื่อมั่นโดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคได้ 0.87, 0.92, 0.82 และ 0.82 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ไคสแควร์ สถิติทีคู่ การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำและการวิเคราะห์ความแปรปรวนพหุคูณ
ผลการวิจัยพบว่า
                ภายหลังเข้าร่วมโครงการ 4 และ 12 สัปดาห์ กลุ่มทดลองมีคะแนนพฤติกรรมการจัดการตนเอง สูงกว่าก่อนเข้าร่วมโครงการ (p < 0.001 และ p < 0.001 ตามลำดับ) และสูงกว่ากลุ่มควบคุม (p < 0.001 และ p < 0.001 ตามลำดับ)
                ภายหลังเข้าร่วมโครงการ 12 สัปดาห์ กลุ่มทดลองมีคะแนนภาวะภายใจลำบากต่ำกว่า ก่อนเข้าร่วมโครงการและต่ำกว่ากลุ่มควบคุม (p < 0.001 และ p < 0.001 ตามลำดับ) โดยมีคะแนนความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโครงการและสูงกว่ากลุ่มควบคุม (p< 0.01 และ p < 0.001 ตามลำดับ) และมีคะแนนคุณภาพชีวิตสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโครงการและสูงกว่ากลุ่มควบคุม (p <0.001 และ p < 0.001 ตามลำดับ)
                ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมการส่งเสริมการจัดการตนเองมีประสิทธิภาพในการส่งเสริมพฤติกรรมการควบคุมโรค โดยลดอาการกำเริบของโรค เพิ่มความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันและเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวระดับที่ 2 และ 3 ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวที่ไม่สามารถควบคุมโรคได้ โดยควรทำการศึกษาซ้ำในระยะยาว ในกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อทดสอบประสิทธิผลของโปรแกรม
 
ที่มา
พยาบาลสาร ปี 2555, January-March ปีที่: 39 ฉบับที่ 1 หน้า 64-76
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว, Dyspnea, Activities of daily living, ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน, คุณภาพชี่วิต, Self-management Program, Patients with Congestive Heart Failure, โปรแกรมการส่งเสริมการจัดการตนเอง, ภาวะหายใจลำบาก