การศึกษาเปรียบเทียบการผ่าตัดนิ้วล็อคแบบเจาะผ่านผิวหนังโดยใช้วิธี 'Feel and Pull' กับวิธีผ่าตัดแบบเปิด: รายงานเบื้องต้น
สัจจา เทอดไพรสันต์*, อุรวิศ ปิยะพรมดี
กลุ่มงานออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา 30000
บทคัดย่อ
                ปัจจุบันมีวิธีการรักษานิ้วล็อคอยู่หลายวิธีในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาได้มีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดนิ้วล็อคแบบเจาะผ่านผิวหนังโดยใช้วีธี ‘Feel and Pull’ ซึ่งมีความปลอดภัยสูง ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บต่อเส้นเอ็นและเส้นประสาทลง วัตถุประสงค์: เพื่อรายงานผลการศึกษาเบื้องต้นเปรียบเทียบการผ่าตัดด้วยวิธีใหม่นี้กับการผ่าตัดด้วยวิธีมาตรฐานเดิม ผู้ป่วยและวิธีการ: ศึกษาเปรียบเทียบแบบสุ่มไปข้างหน้าระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2552 ในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ผู้ป่วยโรคนิ้วล็อค 20 ราย จะถูกสุ่มแบ่งกลุ่มการรักษาเปรียบเทียบผลการรักษา ระดับความเจ็บปวดหลังผ่าตัด ผลข้างเคียง การกลับเป็นซ้ำและระดับความพึงพอใจระหว่างการผ่าตัดแบบใหม่และการผ่าตัดแบบเปิด ผลการศึกษา: พบผู้ป่วยมีการกลับมาซ้ำ 1 ราย จากการผ่าตัดเจาะผ่านผิวหนังโดยใช้วิธี ‘Feel and Pull’ ในผู้ป่วยนิ้วล็อค 9 ราย (ร้อยละ 11) ซึ่งสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด แต่เมื่อเปรียบเทียบระดับความเจ็บปวดหลังผ่าตัด และระดับความพึงพอใจหลังผ่าตัดแล้ว การผ่าตัดด้วยวิธีใหม่ดีกว่าแต่ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p > 0.05) และไม่พบผลข้างเคียงอื่น สรุป: การผ่าตัดโรคนิ้วล็อคด้วยวิธีเจาะผ่านผิวหนัง ‘Feel and Pull’ เป็นการผ่าตัดที่มีความปลอดภัย ซึ่งอาจพบการกลับเป็นซ้ำได้สูงกว่าการผ่าตัดด้วยวิธีมาตรฐานเดิม แต่ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานได้เร็วขึ้นและมีแผลผ่าตัดขนาดที่เล็กลง
 
ที่มา
เวชสารโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ปี 2552, September-December ปีที่: 33 ฉบับที่ 3 หน้า 167-174
คำสำคัญ
Clinical Outcome, Trigger Finger, prospective randomized control trial study