ผลของยา Hydroxyzine เพื่อป้องกันอาการคันจากการให้มอร์ฟีนทางช่องน้ำไขสันหลังในผู้ป่วยที่มาผ่าตัดมดลูกออกทางหน้าท้องโดยวิธีระงับความรู้สึกแบบฉีดยาชาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง
วรัญญา เสริมวัฒนากุล, ศิริพร ครูปัญญามาตย์, หัชพร เขียวบ้านยาง*
กลุ่มงานวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลพิจิตร
บทคัดย่อ
                การให้มอร์ฟีนทางช่องน้ำไขสันหลัง สามารถลดอาการปวดหลังการผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์หลายประการ โดยเฉพาะอาการคันซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยที่สุด อาการคันจากการให้มอร์ฟีนทางช่องน้ำไขสันหลังรักษาได้ยาก การรักษายังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
                การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการป้องกันอาการคันของยา Hydroxyzine 50 มิลลิกรัมที่ให้ในผู้ป่วยก่อนผ่าตัด ในรายที่รับการตัดมดลูกทางหน้าท้องและได้รับมอร์ฟีนทางช่องน้ำไขสันหลัง ทำการศึกษาในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเอามดลูกออกทางหน้าท้องที่โรงพยาบาลพิจิตร ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2554 – กรกฎาคม 2555 จำนวน 80 คน โดยผู้ป่วยได้รับการระงับความรู้สึกด้วยยาชา เฉพาะที่ 0.5% heavy bupivacaine 3 ซีซี ร่วมกับการผสมมอร์ฟีนทางช่องน้ำไขสันหลัง 0.3 มิลลิกรัม เกณฑ์การคัดเลือกผู้ป่วย ต้องไม่มีโรคแทรกซ้อนรุนแรง (ASA I-II) อายุ 18-65 ปี BMI ไม่เกิน 35 แต่หากมีคุณสมบัติต่อไปนี้จะถูกคัดออก (exclusion criteria) ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยา  hydroxyzine และ/หรือ morphine และผู้ป่วยที่ได้รับยาที่มีผลต่อการคันมาก่อนการผ่าตัด
                ผู้ป่วยได้รับการแบ่งกลุ่มโดยวิธีสุ่มและปกปิดโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์กลุ่มละ 40 คน จัดแยกกลุ่มโดยใส่ซองปิดผนึก กลุ่มควบคุมได้รับยาเลียนแบบจำนวน 2 เม็ด กลุ่มศึกษาได้รับยา hydroxyzine 25 มิลลิกรัม จำนวน 2 เม็ด รับประทานก่อนการผ่าตัด ทำการประเมินอาการคันระหว่างอยู่ในห้องผ่าตัด ห้องพักฟื้นและหอผู้ป่วยจนครบ 48 ชั่วโมงหลังจากได้มอร์ฟีนทางช่องน้ำไขสันหลัง
                ข้อมูลทั้งหมดแสดงผลออกมาในรูปของ mean±SD และค่าของร้อยละ ซึ่งถูกเก็บรวบรวมโดยใช้โปรแกรม SPSS version 11.5 ข้อมูลแสดงผลออกมาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มศึกษาและกลุ่มควบคุมโดยวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยใช้ t-test โดยกำหนดให้ P-value ที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.05 จึงมีความสำคัญทางสถิติ
                ผลการศึกษาพบว่าการป้องกันอาการคันที่เกิดจากการให้มอร์ฟีนทางช่องน้ำไขสันหลังภายใน 48 ชั่วโมงในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยกลุ่ม hydroxyzine มีผู้ป่วยที่มีคะแนนอาการคัน 0-1 ร้อยละ 70.5 ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีผู้ป่วยที่มีคะแนนอาการคัน 0-1 ร้อยละ 67 (P = 0.80)
                โดยสรุป hydroxyzine 50 มิลลิกรัมกินก่อนผ่าตัด ไม่สามารถช่วยป้องกันอาการคันจากมอร์ฟีนที่ให้ทางช่องน้ำไขสันหลังในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดมดลูกออกทางหน้าท้องที่ได้รับการระงับความรู้สึกด้วยการฉีดยาชาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง
 
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลพิจิตร ปี 2555, April-September ปีที่: 27 ฉบับที่ 2 หน้า 10-19
คำสำคัญ
intrathecal morphine, Hydroxyzine, prevention pruritus, การป้องกันอาการคัน, การได้รับมอร์ฟีนทางช่องน้ำไขสันหลัง