ผลของโปรแกรมการเป็นหุ้นส่วนทางการพยาบาลต่อการคลอดก่อนกำหนดในสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
อุษา คงคา*, เอมพร รตินธร, ฉวีวรรณ อยู่สำราญ, อัมพัน เฉลิมโชคเจริญกิจ
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
                การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการเป็นหุ้นส่วนทางการพยาบาลต่อการคลอดก่อนกำหนดในสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด กลุ่มตัวอย่างเป็นสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดที่ฝากครรภ์ โรงพยาบาลกำแพงแสน จำนวน 112 ราย โดยสุ่มแบบกลุ่มตัวอย่างออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มทดลองได้รับการดูแลตามโปรแกรมการเป็นหุ้นส่วนทางการพยาบาล คือ เน้นการสร้างความตระหนักแก่ผู้ร่วมวิจัยว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด การร่วมมือวางแผนแก้ไขและลดความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด การสอนการสังเกตอาการและอาการแสดงของภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด และการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมเมื่อเกิดอาการ มีการติดตามเยี่ยมผู้ร่วมวิจัยที่คลินิกฝากครรภ์ 1 ครั้ง และทางโทรศัพท์ทุกสัปดาห์ กลุ่มควบคุมได้รับคู่มือสังเกตอาการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดและการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการร่วมกับการดูแลตามปกติ การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการติดตามอายุครรภ์ที่คลอดของทั้งสองกลุ่ม นำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยการทดสอบสถิติ Relative risk และ Mann Whitney-U ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม มีอัตราการคลอดก่อนกำหนด (9.3% และ 13.5%, RR = 0.688 95% CI .233, 2.031) อายุครรภ์เฉลี่ยที่คลอด (U = 1292, Z = -0.709, P = 0.479) และอายุครรภ์เฉลี่ยที่คลอดก่อนกำหนด (U =15, Z = -0.407, P = 0.755) ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการวิจัยดังกล่าวอาจเนื่องการพัฒนาการเป็นหุ้นส่วนทางการพยาบาลยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับระยะเวลาในการสร้างสัมพันธภาพ การแลกเปลี่ยนข้อมูลไม่เพียงพอ และมีปัญหาบางประการที่สตรีตั้งครรภ์ยังไม่สามารถแก้ไขได้ หรือบางปัญหาต้องมีบุคคลภายในครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข ซึ่งควรทำวิจัยในกลุ่มตัวอย่างที่มีจำนวนมากขึ้นและปรับเปลี่ยนรูปแบบการติดตามเป็นที่คลินิก
 
ที่มา
วารสารการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ปี 2555, October-December ปีที่: 35 ฉบับที่ 4 หน้า 54-64
คำสำคัญ
Preterm Birth, Nursing Partnership, การคลอดก่อนกำหนด, การเป็นหุ้นส่วนการพยาบาล