ประสิทธิผลของการฝังเข็มรักษาอาการชาปลายเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน
สุวัฒน์ ธนกรนุวัฒน์*, Wang Hua, Fu Ping, Li Jiakang, Liang Fengxia, Cheng Bangguo, Zhou Zhongyu, เนาวรัตน์ สุ่มติ๊บ, พิมพ์นภา แซ่โซว, จิรภัญญา ชื่นใจ, ทัศนีย์ ฮาซาไนน์
โรงพยาบาลเสาไห้เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
บทคัดย่อ
                การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเบื้องต้นเรื่องประสิทธิผลของการฝังเข็มรักษาอาการชาปลายเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 โดยศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานของโรงพยาบาลเสาไห้เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จำนวน 48 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม เปรียบเทียบผลการรักษาระหว่างกลุ่มที่รักษาด้วยยาอย่างเดียว กับกลุ่มที่รักษาด้วยยาร่วม กับการฝังเข็ม ยาที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ Amitriptyline HCl 10 mg/day และวิตามิน บี 12 สำหรับการฝังเข็มใช้จุดฝังเข็มหลักที่กำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน 7 จุด ได้แก่ Quchi (LI 11), Weiwanxianshu (EX-B3), Shenshu (BL23), Guanyuan (CV 4), Zusanli (ST36), Hegu (LI 4), Sanyinjiao (SP 6) ฝังเข็มสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ และติดตามผลการรักษาเดือนละ 1 ครั้ง อีก 2 เดือน การวัดผลการรักษาใช้แบบประเมินอาการชา 4 ชนิด ได้แก่ Neuropathy Symptom Score (NSS), Score Scale of Clinical symptom for DPN (SS-DPN), Michigan Diabetes Neuropathy Score (MIDNS) และ Neuropathy Disability Score (NDS) ผลการศึกษาพบว่า การฝังเข็มร่วมกับการใช้ยาสามารถช่วยลดอาการชาปลายเท้าได้ดีกว่าการรับประทานยาอย่างเดียวอย่างชัดเจน (RR Ratio = 0.223, 95% CI = 0.062 -0.794) การประเมินปฏิกิริยาสะท้อนของข้อเข่า, จุดรับรู้การสะท้อนความรู้สึกสัมผัส, การรับรู้ความรู้สึกเย็น พบว่าการรักษาได้ผลร้อยละ 8.32 กลุ่มที่รักษาร่วมกับการฝังเข็ม พบว่า รักษาได้ผลร้อยละ 91.52 การประเมินอาการชาบริเวณขา เท้า อาการสะดุ้งตื่นระหว่างนอนหลับ อิริยาบถที่ช่วยลดอาการชา พบว่า ในกลุ่มที่รักษาด้วยยาอย่างเดียวผลการรักษาดีขึ้นร้อยละ 45.76 กลุ่มฝังเข็มร่วมกับการใช้ยาพบว่ารักษาได้ผลดีขึ้นร้อยละ 79.04 การประเมินปฏิกิริยาการรับรู้ความรู้สึกที่เท้า ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และ ปฏิกิริยาสะท้อนกลับต่างๆ พบว่า กลุ่มรักษาด้วยยาอย่างเดียวรักษาไม่ได้ผลดีขึ้นทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 0 กลุ่มที่ฝังเข็มร่วม กับการใช้ยาได้ผลดีขึ้นร้อยละ 95.68 การประเมินอาการแสดงออกต่างๆ เช่น ความรู้สึกกระหายหรืออยากน้ำ, อารมณ์โมโหง่าย, หิวบ่อย, การพักผ่อน, การขับถ่าย, ปริมาณและความถี่ในการถ่ายปัสสาวะ, การรับรู้ความรู้สึกร้อนที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า พบว่า กลุ่มที่รักษาด้วยยาได้ผลดีขึ้นร้อยละ 37.45 กลุ่มที่รักษาด้วยการฝังเข็มร่วมกับการใช้ยา รักษาได้ดีขึ้นคิดเป็นร้อยละ 91.52 การสอบถามในเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มพบว่ามีความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตในระดับเดียวกัน
 
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2555, September-December ปีที่: 10 ฉบับที่ 3 หน้า 177-186
คำสำคัญ
Acupuncture, การฝังเข็ม, numbness in the lower extremities, diabetic peripheral neuropathy, อาการชาปลายเท้า, ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่อ 2