การพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิกต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้องรัง โรงพยาบาลบ้านหมอ อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี
นพวรรณ ศิริเขตต์
โรงพยาบาลบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกผู้ป่วยโรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง คลินิกโรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรงพยาบาลบ้านหมอ
วิธีการศึกษา: การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างกลุ่มเดียว วัดก่อนและหลัง (The One-Group Pretest-Posttest Designs) กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง จำนวน 20 คน และทีมผู้ดูแลที่ปฏิบัติงานคลินิกโรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรงพยาบาลบ้านหมอ จำนวน 10 คน ซึ่งผู้ศึกษาใช้วิธีการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือ แนวปฏิบัติทางคลินิกในการดูแล ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง พัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิก โดยประยุกต์ขั้นตอนการพัฒนาตามกรอบแนวคิดการพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิก การนำไปใช้ และการประเมินผลของสถาบันวิจัยทางการแพทย์และสุขภาพแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งได้รับการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา โดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ท่าน และได้ค่าความตรงของเนื้อหาเท่ากับ 0.89 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบความแตกต่างของคุณภาพชีวิตก่อนและหลังใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกในการดูแล ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโดยใช้สถิติทดสอบที (Dependent t-test)
ผลการศึกษา: คะแนนคุณภาพชีวิต รายด้าน และโดยรวม หลังจากใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ดีกว่าก่อนใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกในการดูแลผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (t = 9.49, 4.47, 2.99, 6.66 และ 9.44 ตามลำดับ)
สรุป: แนวปฏิบัติทางคลินิกผู้ป่วยโรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ทำให้ระดับคุณภาพชีวิตโดยรวมสูงขึ้น
 
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข เขต 5 ปี 2555, January-April ปีที่: 6 ฉบับที่ 1 หน้า 21-31
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชิวิต, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, Clinical Practice Guidelines, Chronic Obstructive Pulmonary Disease patient, แนวปฏิบัติทางคลินิก