คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไทยที่มีภาวะหายใจผิดปกติขณะหลับชนิดอุดกั้น
ปารยะ อาศนะเสน, โชคชัย เมธีไตรรัตน์, วัฒนชัย โชตินัยวัตรกุล, วิชญ์ บรรณหิรัญ*
Department of OtoRhinoLaryngology, Faculty of Medicine Siriraj Hospital 2 Phrannok Road, Bangkoknoi, Bangkok 10700, Thailand; Phone: 0-2419-8040, Fax: 0-2419-8044; E-mail: wishbanh@gmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์:  เพื่อประเมินคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไทยที่มีภาวะหายใจผิดปกติขณะหลับชนิดอุดกั้น (OSDB)  และผลการตอบสนองของคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องเป่าความดันลมบวกอย่างต่อเนื่อง (CPAP)
วัสดุและวิธีการ: ในการศึกษามีอาสาสมัครปกติจำนวน 38 ราย, ผู้ป่วยนอนกรนธรรมดาจำนวน 35 ราย และผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (OSA) จำนวน 108 ราย ซึ่งได้รับการวินิจฉัยยืนยันจากการทดสอบการนอนหลับ (PSG) โดยผู้ป่วยทุกรายตอบแบบสอบซึ่งประกอบด้วย SF-36 และแบบประเมินระดับความง่วงนอนเอ็บเวิร์ธ (ESS) ฉบับภาษาไทย สาหรับผู้ป่วยที่เป็น OSA และรักษาโดยใช้เครื่อง CPAP อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จะทำแบบสอบถาม SF-36 อีกครั้งภายหลังจากที่เริ่มรักษาเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน
ผลการศึกษา: พบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่เป็นภาวะนอนกรนธรรมดา และ OSA จากอาสาสมัครปกติใน มิติ role-physical และ general health (p<0.05) แต่ไม่พบความแตกต่างในมิติอื่นๆ ของแบบสอบถาม SF-36 อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบค่าปกติในประชากรไทยทั่วไป พบว่าคะแนนแบบสอบถามดังกล่าวในผู้ป่วยที่เป็น OSA จะต่ำกว่าทุกมิติยกเว้น mental health เมื่อทำการศึกษาเปรียบเทียบคะแนน SF-36 กับแบบประเมิน ESS พบว่ามีความสัมพันธ์กันในระดับต่ำแต่มีนัยสำคัญทางสถิติในมิติ physical function, role-physical, general health, vitality, และ role-emotional   โดยมีสัมประสิทธิ์ความสัมพันธ์ (r) อยู่ที่ 0.17 ถึง 0.29 เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนของแบบสอบถาม SF-36 กับข้อมูลจากการตรวจ PSG พบว่า  ไม่มีความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญทางสถิติในมิติต่างๆ  ยกเว้นความสัมพันธ์เพียงเล็กน้อยระหว่าง role-physical, mental health, และ vitality dimensions กับค่าเฉลี่ยของระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ CPAP อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ พบว่าระดับคุณภาพชีวิตในทุกมิติจากแบบสอบถาม SF-36 ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01)
สรุป:  ผู้ป่วยไทยที่มีภาวะหายใจผิดปกติขณะหลับชนิดอุดกั้นมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่าอาสาสมัครและประชากรไทยทั่วไปอย่างน้อยในบางมิติ  ซึ่งภาวะดังกล่าวดีขึ้นหลังจากการใช้ CPAP  รักษาอย่างมีประสิทธิผล  อย่างไรก็ตามพบว่าแทบจะไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพชีวิตกับผลจากการทดสอบการนอนหลับแต่อย่างไร
 
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2556, February ปีที่: 96 ฉบับที่ 2 หน้า 209-216
คำสำคัญ
Quality of life, Thai, Obstructive sleep disordered breathing, Sleep apnea