ผลของสารแซนโทนที่สกัดจากเปลือกมังคุดในการป้องกันอาการเจ็บคอหลังผ่าตัด
พวงพร การิยา*, พัชรินทร์ หมื่นสายญาติ, จิรารัตน์ หอมนาน
งานพยาบาลวิสัญญี กลุ่มงานวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลลำปาง
บทคัดย่อ
                การศึกษานี้เป็นการศึกษาผลในการบรรเทาอาหารเจ็บคอหลังผ่าตัดของสารแซนโทนที่สกัดได้จากเปลือกมังคุด ซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นบ้านของประเทศไทย เป็นการศึกษาไปข้างหน้าแบบสุ่มปกปิดชนิด single blinded controlled trial ในผู้ป่วยที่มารับการฝ่าตัดแบบไม่เร่งด่วนและได้รับการระงับความรู้สึกแบบทั่วตัวร่วมกับการใส่ท่อหายใจ กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วย 120 คน ที่ไม่มีโรคแทรกซ้อนรุนแรง ASA Physical status 1-2 อายุระหว่าง 15-65 ปี ในเดือนพฤศจิกายน 2553 – เดือนเมษายน 2553 สุ่มผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่มๆ ละ 40 คน โดยก่อนการระงับความรู้สึก ให้กลุ่ม A: อมกลั้วคอโดยใช้น้ำอุ่น 20 ซีซีผสมกับสารแซนโทนความเข้มข้น 10 มิลลิกรัม/ซีซี ก่อนให้ยาระงับความรู้สึก 5 นาที กลุ่ม B: อมกลั้วคอโดยใช้น้ำอุ่น 20 ซีซี ผสมสีผสมอาหารสีเดียวกับกลุ่ม A กลุ่ม C: ใช้วิธีระงับความรู้สึกตามปรกติ จากนั้นติดตามอุบัติการเจ็บคอและประเมินความรุนแรงของอาการเจ็บคอหลังให้ยาระงับความรู้สึกที่ 24 ชั่วโมง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ร้อยละ chi-square test  หรือ Fisher’s exact test พบว่าผู้ป่วยกลุ่มที่อมกลั้วคอด้วยน้ำอุ่นผสมกับสารสกัดจากเปลือกมังคุด เจ็บคอร้อยละ 20.0 (คะแนนความปวดเฉลี่ย 1.34) ในขณะที่กลุ่มที่อมกลั้วคอด้วยน้ำอุ่นและกลุ่มควบคุม เจ็บคอร้อยละ 57.5  และ 62.5 (คะแนนความปวดเฉลี่ย 4.49 และ 5.23) ตามลำดับ ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p 0.001) ทั้งนี้ไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการอมกลั้วคอโดยใช้สารสกัดจากเปลือกมังคุด และเมื่อทดสอบระหว่างกลุ่มไม่พบความแตกต่างของค่าความดันเฉลี่ยในกระเปาะลมของท่อช่วยหายใจขณะระงับความรู้สึก ระยะเวลาในการระงับความรู้สึก จำนวนครั้งการใส่ท่อช่วยหายใจ จำนวนครั้งในการดูดเสมหะ จำนวนครั้งเวลาไอและการเปลี่ยนท่าหลังใส่ท่อช่วยหายใจในการศึกษาครั้งนี้ สารแซนโทนที่สกัดจากเปลือกมังคุดขนาด 200 มิลลิกรัม (10 มิลลิกรัม/ซีซี) อมกลั้วคอ 5 นาทีก่อนการระงับความรู้สึก อาจช่วยป้องกันอาการเจ็บคอหลังผ่าตัดได้
 
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2554, November-December ปีที่: 20 ฉบับที่ 6 หน้า 953-962
คำสำคัญ
postoperative sore throat, xanthones, เจ็บคอหลังผ่าตัด, แซนโทน