ผลการรักษาโรคริดสีดวงทวารด้วยสารสกัดจากเพชรสังฆาต
สุรัติ เล็กอุทัย*, ภัทรา อะหมะดี พีรซะหีด
โรงพยาบาลดำเนินสะดวก ราชบุรี
บทคัดย่อ
                การวิจัยทางคลินิก (double blind randomized controlled trial) ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการรักษาโรคริดสีดวงทวารด้วยสารสกัดจากเพชรสังฆาต โดยการเปรียบเทียบภาวะเลือดออก อาการปวดทวาร หลอดเลือดขอดที่ยื่นออกมาจากทวารหนัก และความพึงพอใจต่อผลการรักษาที่ได้รับระหว่างกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยสารสกัดจากเพชรสังฆาต ยา Cyclo 3 Fort กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเป็นผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารที่มารับการรักษา ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2553 – 28 กุมภาพันธ์ 2554 จำนวน 80 คน รวบรวมข้อมูลภาวะเลือดออก อาการปวดทวาร ภาวะหลอดเลือดขอดที่ยื่นออกมาจากทวารหนัก และความพึงพอใจต่อผลการรักษาโดยใช้แบบประเมินชนิดมาตราส่วนประมาณค่า วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติที และการวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม
                ผลการวิจัยพบว่าหลังการรักษา ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม มีภาวะเลือดออก อาการปวดทวาร และภาวะหลอดเลือดขอดที่ยื่นออกมาจากทวารหนัก ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อพิจารณาจากค่าสถิติ (t-test) ก่อนและหลังการรักษา พบว่า สารสกัดจากเพชรสังฆาตมีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะเลือดออก และหลอดเลือดขอดที่ยื่นออกมาจากทวารหนักได้ดี ส่วนยา Cyclo 3 Fort มีประสิทธิผลในการรักษาภาวะความเจ็บปวดได้ดี และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาต่างชนิดกัน มีภาวะเลือดออก อาการปวดทวาร หลอดเลือดขอดที่ยื่นออกมาจากทวารหนัก และความถึงพอใจหลังการรักษาไม่แตกต่างกัน แสดงให้เห็นว่า สารสกัดจากเพชรสังฆาตให้ผลการรักษาเทียบเท่ายา Cyclo 3 Fort ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันที่นำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นหน่วยงานบริการทางด้านสาธารณสุขควรนำข้อค้นพบจากการวิจัยครั้งนี้เป็นแนวทางในการใช้ยารักษาผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวาร โดยคำนึงถึงต้นทุนในการรักษาเพื่อลดค่าใช้จ่ายตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งการใช้สมุนไพรไทยเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษาที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการสนับสนุนให้โรงพยาบาลผลิตและใช้ยาสมุนไพรแทนการรักษาด้วยยาที่นำเข้าจากต่างประเทศ
 
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2554, September-October ปีที่: 20 ฉบับที่ 5 หน้า 848-856
คำสำคัญ
Cissus quadrangularis Linn extracts, hemorrhoids Disease, สารสกัดจากเพชรสังฆาต, โรคริดสีดวงทวาร