ประสิทธิผลการป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องจากการใส่มอร์ฟีนในช่องไขสันหลังโดย Ondansetron และ Metoclopramide
นีรดา กอจิตตวานิจ*, สุวัฒน์ ตนายะพงศ์, สุพัตรา สัตตรัตนามัย, มีนา ชูใจ
กลุ่มงานวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลบ้านโป่ง
บทคัดย่อ
                อาการคลื่นไส้อาเจียนหลังได้รับยาระงับความรู้สึกเฉพาะส่วนเป็นอาการที่ก่อให้เกิดความไม่สุขสบายกับผู้ป่วย การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มตัวอย่างแบบปกปิดทั้งสองฝ่ายเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลการป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนของยา ondansetron, metoclopramide กับสารละลายน้ำเกลือในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องและได้รับการระงับความรู้สึกเฉพาะส่วนด้วยการฉีดยาชาผสมมอร์ฟีนทางช่องไขสันหลัง จำนวน 120 ราย โดยทุกรายได้รับการสุ่มโดยไม่ทราบกลุ่มเพื่อแบ่งกลุ่มรับยา โดยกลุ่ม 1 ได้รับยา ondasetron ขนาด 4 มก. ทางหลอดเลือดดำ กลุ่ม 2 ได้รับยา metoclopramide ขนาด 10 มก. ทางหลอดเลือดดำ และกลุ่ม 3 เป็นกลุ่มควบคุมได้รับ normal saline ขนาด 2 มล. ทางหลอดเลือดดำ ภายหลังการตัดสายสะดือทารกแรกคลอดทางหน้าท้องทันที จากนั้นติดตามประเมินอาการคลื่นไส้ อาเจียนและอาการข้างเคียงจากการระงับความรู้สึกเฉพาะส่วนทางช่องไขสันหลังตลอด 24 ชั่วโมง โดยแบ่งการประเมินเป็น 3 ระยะ คือ 0-1 ชั่วโมงในห้องพักฟื้น 1-6 ชั่วโมงและ 6-24 ชั่วโมงที่หอผู้ป่วยนรีเวชตามลำดับ โดยวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติไคสแควร์และเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มด้วยสถิติ ANOVA
                อาการคลื่นไส้ อาเจียนและผลข้างเคียงจากการระงับความรู้สึกเฉพาะส่วนของทั้ง 3 กลุ่มทั้งระหว่างการผ่าตัดและหลังจากนั้นไม่แตกต่างกัน จึงสรุปได้ว่า ondansetron และ metoclopramide มีประสิทธิลผในการป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องภายใต้การระงับความรู้สึกเฉพาะส่วนด้วยการฉีดยาชาผสมมอร์ฟีนทางช่องไขสันหลังได้ไม่แตกต่างจาก normal saline อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
 
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2554, September-October ปีที่: 20 ฉบับที่ 5 หน้า 841-847
คำสำคัญ
Nausea, Vomiting, Cesarean section, intrathecal morphine, ผ่าตัดคลอด, antiemesis, C/S, คลื่นไส้อาเจียน, ฉีดยาชาทางช่องไขสันหลัง