การศึกษาค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยเด็กโรคเรื้อรังที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
รัชนี สีดา*, ฉันทิกา จันทร์เปีย, ชูขวัญ ปิ่นสากล, กาญจนา ผลละออ
ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
                การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาค่าใช้จ่ายของครอบครัวและค่าใช้จ่ายของรัฐในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยเด็กโรคเรื้อรังเมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลศิริราช กลุ่มตัวอย่างได้แก่ บิดาหรือมารดา หรือผู้เลี้ยงดูผู้ป่วยเด็กโรคเรื้อรังที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายน 2541 ได้ผู้ป่วยเด็กโรคเรื้อรังจำนวน 118 คน ประกอบด้วย โรคหัวใจ โรคเลือด โรคมะเร็ง โรคไตและโรคหอบหืด รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ตามแบบสัมภาษณ์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ผลการศึกษาพบว่า (1) ผู้ป่วยเด็กโรคเรื้อรังที่ศึกษามีทั้งเพศชายและเพศหญิงในจำนวนใกล้เคียงกัน ร้อยละ 57.5 เป็นเด็กวัยเรียน (6-12 ปี) และป่วยมานาน 1-2 ปี ร้อยละ 39.9 (2) ค่าใช้จ่ายของครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยติดโรคเรื้อรังในระหว่างที่รับการรักษาในโรงพยาบาลในภาพรวม พบว่ามีค่าใช้จ่ายประมาณ 1-4,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 80 และโรคมะเร็งเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในครอบครัวมากที่สุดคือ มากกว่า 4,000 บาทขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 34.48 (3) ค่าใช้จ่ายของรัฐในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง พบว่าผู้ป่วยเด็กโรคไตและโรคเลือดซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่โรงพยาบาลระหว่าง 8-14 วัน และรัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายคนละไม่น้อยกว่า 5,000 บาท และ 5,000 – 10,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 50 และ 41.18 ตามลำดับ สำหรับผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจ ส่วนใหญ่จะอยู่ในโรงพยาบาลนาน 8-30 วัน รัฐเสียค่าใช้จ่ายคนละประมาณ 20,001-40,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 20.68 ในขณะที่ผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งจะอยู่ในโรงพยาบาลนาน 15-60 วัน รัฐเสียค่าใช้จ่ายคนละไม่เกิน 5,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 32.26 และผู้ป่วยโรคหอบหืดส่วนใหญ่อยู่โรงพยาบาลไม่เกิน 7 วัน และรัฐเสียค่าใช่จ่ายคนละไม่เกิน 5,000 บาท
 
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์ ปี 2542, January-March ปีที่: 17 ฉบับที่ 1 หน้า 47-57