การดูแลท่อหลอดลมช่องคอของผู้ป่วยที่ได้รับโปรแกรมการสอนแบบใหม่ เปรียบเทียบกับการสอนสาธิตแบบเดิมโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
จิตติมา ต๊ะต้องใจ, จุฑาทิพ ไชยรินทร์, ศิริลักษณ์ สักกะวงค์*, เยาวลักษณ์ ผลิตผลการพิมพ์
งานผู้ป่วยนอก หู คอ จมูก ปาก รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์
บทคัดย่อ
ความเป็นมา: ผู้ป่วยเรื้อรังหรือผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจที่ใส่ท่อหลอดลมช่องคอ เพื่อช่วยในการหายใจหรือระบายเสมหะ ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการทำความสะอาดท่อหลอดลมช่องคอ โดยเฉพาะการทำความสะอาดท่อชั้นใน ซึ่งการทำความสะอาดท่อหลอดลมช่องคอ มีขั้นตอนในการทำความสะอาดที่ซับซ้อน โปรแกรมการสอนให้ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลรู้และเข้าใจในการถอด และล้างท่อหลอดลมช่องคออย่างถูกต้อง จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากเสมหะอุดตันและช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาวะที่ดี
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบผลการสอนโดยใช้โปรแกรมการสอนแบบใหม่เปรียบกับวิธีการสอนสาธิตแบบเดิมในผู้ป่วยที่ใส่ท่อหลอดลมช่องคอชนิดถอดล้างได้
วิธีการศึกษา: เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (action research) ในผู้ป่วยที่ใส่ท่อหลอดลมช่องคอ ซึ่งมารับการเปลี่ยนท่อหลอดลมช่องคอชนิดถอดล้างได้ที่งานผู้ป่วยนอก หู คอ จมูก แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม โดยวิธีการสุ่มเปิดซองผนึก สอนสาธิตแบบเดิม และสอนแบบใหม่ซึ่งด้วยโปรแกรมวีดีทัศน์ ติดตามประเมินผลทันทีหลังการสอนทั้งสองแบบ โดยใช้แบบประเมินการถอดทำความสะอาดและใส่ท่อหลอดลมช่องคอ เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2553-31 พฤษภาคม พ.ศ.2555 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มโดยใช้สถิติ exact probability test
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยทั้งหมด 55 ราย สุ่มเข้ารับการสอนด้วยโปรแกรมการสอนแบบใหม่ 22 ราย และสอนสาธิตแบบเดิม 33 ราย คะแนนในภาพรวมการสอนโดยใช้โปรแกรมการสอนแบบใหม่สูงกว่าการสอนแบบสาธิต เมื่อจำแนกรายด้านพบว่า ผลการเตรียมอุปกรณ์ครบและการใส่ท่อกลับมีร้อยละของผู้ที่ผ่านเกณฑ์สูงกว่ากลุ่มที่สอนสาธิต (95.5%/87.9% p-value 0.327) ส่วนการทำความสะอาดท่อหัวข้อ การล้างท่อและการต้มท่อมีร้อยละของผู้ที่ผ่านเกณฑ์เท่ากัน ยกเว้นการล้างมือและหมุนดึงท่อออก การสอนโดยใช้โปรแกรมการสอนแบบใหม่ มีร้อยละของผู้ที่ผ่านเกณฑ์สูงกว่าการสอนสาธิตแบบเดิม ร้อยละ 95.5 และร้อยละ 75.8, P –value 0.054)
สรุปและข้อเสนอแนะ: ถึงแม้ว่าการสอนโดยใช้โปรแกรมการสอนแบบใหม่ ไม่มีความแตกต่างกับการสอนสาธิตแบบเดิมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่การสอนโดยใช้โปรแกรมการสอนแบบใหม่ มีภาพประกอบ เนื้อหาที่เข้าใจง่ายและในภาพรวมการสอนโดยใช้โปรแกรมการสอนแบบใหม่ มีคะแนนการปฏิบัติสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่งในเกือบทุกขั้นตอน ทำให้การสอนเป็นมาตรฐานเดียวกัน
 
ที่มา
เชียงรายเวชสาร ปี 2555, ปีที่: 4 ฉบับที่ 2 หน้า 9-15
คำสำคัญ
Tracheostomy tube, education program, ท่อหลอดลมช่องคอ, การสอนสาธิต, โปรแกรมการสอน