ผลของโปรแกรมการดูแลสุขภาพที่บ้านต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดูแลตนเองระดับน้ำตาลในเลือดและฮีโมโกลบินเอวันซี ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน
พรรษา ปัญจะศรี*, ไพรวรรณ เขื่อนแก้ว, ทัศนีย์ บุญอริยเทพ
กลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัวและบริการด้านปฐมภูมิ โรงพยาบาลร้องกวาง จังหวัดแพร่
บทคัดย่อ
ความเป็นมา: โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ มีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ในโรงพยาบาลร้องกวาง จังหวัดแพร่ พบว่ามีผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลินจำนวนหนึ่งทีรับการรักษาโดยยารับประทาน ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลเรื่องอาหารและการออกกำลังกายควบคู่กันไป รูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้านเป็นอีกกลวิธีหนึ่งในการติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาพฤติกรรมการดูแลตนเอง ระดับน้ำตาลในเลือด (FBS) และฮีโมโกลบินเอวันซี (HBA1C) ของผู้ป่วยโรคเบาหวานกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการดูแลสุขภาพที่บ้านและกลุ่มควบคุมที่ได้รับการดูแลตามปกติ
รูปแบบการศึกษา: Randomized equivalent controlled intervention study
สถานที่ : ตำบลร้องเข็มและตำบลแม่ยางฮ่อ อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่
วิธีการศึกษา: ศึกษากลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน จำนวน 50 คน เป็นกลุ่มทดลอง 25 คน และกลุ่มควบคุม 25 คน คัดเลือกโดยการสุ่มจับคู่เหมือนกัน (matched pair) ศึกษาข้อมูลทั่วไป ประเมินพฤติกรรมการดูแลตนเอง เจาะเลือดตรวจ FBS HBA1C กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการดูแลสุขภาพที่บ้าน ส่วนกลุ่มควบคุมที่ได้รับและไม่ได้รับโปรแกรมการดูแลสุขภาพที่บ้าน ก่อนและหลังได้รับโปรแกรม ด้วยสถิติ t-test
ผลการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่ม เป็นชายร้อยละ 20 หญิงร้อยละ 80 อายุเฉลี่ยในกลุ่มทดลอง 55.6 ปี  (SD=6.9) กลุ่มควบคุม 51.6 ปี (SD = 8.5) ระยะเวลาของการเป็นโรคอยู่ในช่วง 1-10 ปี ลักษณะทั่วไปของทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน ก่อนการทดลอง ทั้งสองกลุ่ม มีค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมการดูแลตนเองด้านออกกำลังกายและการใช้ยาไม่แตกต่างกัน ส่วนการควบคุมอาหารกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนดีกว่า ค่าเฉลี่ย FBS และค่าเฉลี่ย HBA1C ไม่แตกต่างกัน หลังการทดลอง กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีค่าเฉลี่ยพฤติกรรมการดูแลตนเองในทุกด้านแตกต่างกัน (p = 0.001) กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยพฤติกรรมการดูแลตนเองสูงกว่ากลุ่มควบคุม ค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือดทั้งสองกลุ่มแตกต่างกันโดยกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือดลดลงต่ำกว่ากลุ่มควบคุม (p <0.001) และค่าเฉลี่ยระดับ HBA1C มีแนวโน้มลดลงมากกว่าแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.683)
สรุป:  โปรแกรมการดูแลสุขภาพที่บ้าน สามารถช่วยควบคุมพฤติกรรมการดูแลตนเองและค่าระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้ แต่ระดับ HBA1C อาจต้องใช้ระยะเวลานานกว่านี้
 
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลแพร่ ปี 2554, July-December ปีที่: 19 ฉบับที่ 2 หน้า 78-84
คำสำคัญ
พฤติกรรมการดูแลตนเอง, home health care program, self-care behaviors, level of blood sugar of patients with non insulin dependent diabetes mellitus, โปรแกรมการดูแลสุขภาพที่บ้าน, ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน