การจัดการการบำบัดด้านยาสำหรับผู้ป่วยนอกโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยเภสัชกร
จรินทร์ญา เหล็กเพชร*, สุธาพิพย์ พิชญไพบูลย์
ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลชุมชนหนองบัว จ.นครสวรรค์
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์:  เพื่อศึกษาผลของการจัดการการบำบัดด้านยา (Medication therapy management; MTM) ต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ป่วยนอกโรคเบาหวานชนิดที่ 2 วิธีการศึกษา: การศึกษาเชิงทดลองในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2  ณ โรงพยาบาลหนองบัว  จ.นครสวรรค์ ระหว่างเดือน สิงหาคม 2553 ถึงกันยายน 2554 แบ่งผู้ป่วยทั้งหมด 86 รายเป็น 2  กลุ่ม กลุ่มละ 43 ราย โดยวิธีสุ่ม ผู้ป่วยกลุ่มศึกษาได้รับ MTM  โดยผู้วิจัยค้นหา แก้ไขและป้องกันปัญหาจากการใช้ยา ให้ความรู้เรื่องโรคและการปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วย รวมทั้งปฏิบัติตามแนวทางการจ่ายยาที่จัดทำขึ้น ส่วนผู้ป่วยกลุ่มควบคุมได้รับการรักษาในระบบเดิม ติดตามค่า HbA1C ที่เดือน 0 และ 3 (สิ้นสุดการศึกษา) และค่า FPG ที่เดือน 0, 1, 2  และ 3  ผลการศึกษา: เมื่อสิ้นสุดการศึกษาในเดือนที่ 3 พบว่ากลุ่มศึกษามีค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (8.1  ± 1.2%) น้อยกว่ากลุ่มควบคุม (8.8  ±   1.3%) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) ส่วนระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (FPG) ของผู้ป่วยกลุ่มศึกษา (140.2 ±   26.8 mg/dl) และกลุ่มควบคุม (150.6 ±   38.4 mg/dl) ไม่แตกต่างกันทางสถิติ อย่างไรก็ตาม พบว่าระดับ FPG  ของกลุ่มศึกษาในเดือนที่ 1, 2 และ 3 ลดลงจากเดือนที่ 0 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) ผู้ป่วยกลุ่มศึกษาได้รับ MTM ทั้งสิ้น 172 ครั้ง (ทุกครั้งที่พบเภสัชกร) พบปัญหาเกี่ยวกับการใช้ยา 114 ปัญหา แก้ไขได้เองโดยผู้วิจัย 104 ปัญหา และขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ 10 ปัญหา ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาและปฏิบัติตนตามสั่ง สรุป: การทำ MTM  และปฏิบัติตามแนวทางการจ่ายยาที่จัดทำขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้เพิ่มขึ้นและแก้ไขปัญหาจากการใช้ยาของผู้ป่วยได้
 
ที่มา
ไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ (ศรีนครินทรวิโรฒเภสัชสาร) ปี 2554, October-December ปีที่: 6 ฉบับที่ 4 หน้า 274-281
คำสำคัญ
Diabetes, เบาหวาน, Pharmacist, เภสัชกร, Drug-related problem, medication therapy management, การจัดการบำบัดด้วยยา, ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ยา