การเริ่มหลั่งของน้ำนมเต็มเต้าในมารดาหลังการผ่าตัดคลอด: การศึกษาแบบ Randomized controlled trial เปรียบเทียบระหว่างการรับประทานอาหารเร็วและการรับประทานอาหารตามขั้นตอน
นลินี เดียววัฒนวิวัฒน์
Department of Obstetrics and Gynaecology, Chao Praya Yomaraj Hospital, Suphanburi 72000, Thailand
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาระยะเวลาของการเริ่มหลั่งของน้ำนมเต็มเต้าในมารดาหลังการผ่าตัดคลอดเปรียบเทียบระหว่างการเริ่มรับประทานอาหารเร็วและการรับประทานอาหารตามขั้นตอน
วัสดุและวิธีการ: มารดาที่ได้รับการผ่าตัดคลอดและไม่มีภาวะแทรกซ้อนจำนวน 144 รายถูกสุ่มแบบเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 72 ราย กลุ่มทดลองเริ่มให้รับประทานอาหารเร็ว กลุ่มควบคุมให้รับประทานอาหารตามขั้นตอนแบบเดิม บันทึกระยะเวลาของการหลั่งน้ำนมมารดาทั้ง 2 กลุ่ม โดยการสัมภาษณ์ ตรวจสอบหาค่าเฉลี่ยของข้อมูลที่มีการกระจายปกติ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและวิเคราะห์เปรียบเทียบโดยใช้ independent T-test การวิเคราะห์ข้อมูลกลุ่ม และข้อมูลต่อเนื่องใช้ Chi-square test และ two-tailed t-test โดยใช้นัยสำคัญทางสถิติที่ P value < 0.05
ผลการศึกษา: มารดาทั้งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมไม่มีลักษณะพื้นฐานที่แตกต่างกัน ระยะเวลาการหลั่งน้ำนมในมารดากลุ่มทดลองที่เริ่มให้รับประทานอาหารเร็วคือ 43.55±13.58 ชั่วโมง เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ให้รับประทานอาหารตามขั้นตอนเดิม คือ 56.40±11.23 ชั่วโมง ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.001)
สรุป: มารดาที่ได้รับการผ่าตัดคลอดและไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เริ่มรับประทานอาหารเร็วมีระยะเวลาที่เริ่มการหลั่งน้ำนมสั้นกว่ามารดาที่ให้รับประทานอาหารตามขั้นตอนแบบเดิม
 
ที่มา
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2553, April ปีที่: 18 ฉบับที่ 2 หน้า 70-76
คำสำคัญ
caesarean section, Early feeding, onset of lactation