ประสิทธิผลของโปรแกรมการสอนแบบพึ่งตนเองสำหรับเด็กวัยเรียนโรคหอบหืดที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานคร
ดาราวรรณ เมฆสุวรรณ, นวลอนงค์ บุญจรูญศิลป์*, ยุวดี พงษ์สาระนันทกุล, วีรยา จึงสมเจตไพศาล, อรุณรัศมี บุนนาคภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลของโปรแกรมการสอนแบบพึ่งตนเอง สำหรับเด็กวัยเรียนโรคหอบหืด กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยเด็กวัยเรียนโรคหอบหืด อายุระหว่าง 6-12 ปี ที่เข้ามารับการรักษาที่แผนกกุมาร ตึกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลรามาธิบดี จังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 80 คน รูปแบบการวิจัยประกอบด้วยการสุ่มกลุ่มตัวอย่างโดยให้หยิบลูกปิงปอง ผู้ที่หยิบได้ลูกปิงปองสีส้ม จะได้รับบริการตามปกติจากโรงพยาบาลรวมทั้งได้รับการสอนแบบพึ่งตนเองและคู่มือเกี่ยวกับ โรคหอบหืดและการดูแลตัวเองให้เหมาะสมกับโรคจากผู้วิจัย ผู้ที่หยิบได้ลูกปิงปองสีขาวจะได้รับบริการตามปกติจากโรงพยาบาล แม้ไม่ได้รับการสอนหรือคู่มือใดๆ จากผู้วิจัย กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มจะพบผู้วิจัย 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันเฉลี่ยประมาณ 4 สัปดาห์ โดยผู้วิจัยพยายามนัดหมายให้ตรงกับวันที่แพทย์นัดตรวจครั้งต่อไป เพื่อความสะดวกของกลุ่มตัวอย่าง
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการสอนแบบพึ่งตนเองมีความถี่ของการเกิดอาการโรคหอบหืดน้อยกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้รับการสอน นอกจากนี้ยังพบว่ามีความแตกต่างในผลรวมของคะแนน คุณภาพชีวิตระหว่างกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการสอนแบบพึ่งตนเองและกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้รับการสอนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.03 การศึกษาครั้งนี้เสนอแนะว่า โปรแกรมการสอนแบบพึ่งตนเองสำหรับผู้ป่วยเด็กวัยเรียนโรคหอบหืดสามารถช่วยลดความถี่ของการเกิดอาการของโรคหอบหืดและเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยกลุ่มตัวอย่าง
ที่มา
วารสารวิจัยทางการพยาบาล ปี 2545, July - September
ปีที่: 6 ฉบับที่ 3 หน้า 128-135
คำสำคัญ
Quality of life, children, คุณภาพชีวิต, Asthma, โรคหืด, พฤติกรรม, เด็ก, SELF-MANAGEMENT, การจัดการตนเอง, คุณภาพชี่วิต