ต้นทุนการรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยปวดคอของกลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู
สุกัญญา ภัยหลีกลี้*, อภิญญา เอี่ยมตระการ
กลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลอุดรธานี
บทคัดย่อ
การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาต้นทุนของกลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลอุดรธานี ในการรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยปวดคอ (Neck pain) จำแนกตามประเภทผู้ป่วย (ผู้ป่วยนอก, ผู้ป่วยใน), เพศ, อายุ, รหัสโรคตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมตาม ICD-10 โดยเป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบย้อนหลัง อิงสถิติความชุกของโรค พิจารณาในมุมมองผู้ให้บริการ คำนวณต้นทุนบริการทางการแพทย์โดยใช้วิธีมาตรฐานและแบบล่างขึ้นบน (Bottom-up study)
กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยปวดคอที่เข้ารับบริการที่กลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลอุดรธานีทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ในปีงบประมาณ 2551 โดยคัดเลือกจากรหัสโรคตาม ICD-10 ดังนี้ M4312, M4722, M4782, M500, M501, M790, M791, M798, M819 และ S136 โดยมีเกณฑ์การคัดออก คือ ผู้ป่วยปวดคออันเนื่องจากกระดูกสันหลังส่วนคอหัก, วัณโรคกระดูกสันหลัง, มะเร็งกระดูกและมะเร็งแพร่กระจาย มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 323 ราย
ต้นทุนรวมของการรักษาและฟื้นฟูในผู้ป่วยปวดคอมีมูลค่า 906,960.75 บาท โครงสร้างต้นทุนบริการประกอบด้วย ต้นทุนการรักษาตัวในโรงพยาบาล 27.12% ค่าแพทย์ตรวจประเมิน 19.19% ค่ายาและวัสดุการแพทย์ 18.94% ค่ากายภาพบำบัด 18.84% ที่เหลือคือ ค่าหัตถการ Trigger point injection และฝังเข็ม การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจรังสีวินิจฉัย และอื่นๆ โดยมีต้นทุนเฉลี่ยของทุกบริการ 2,807.93 บาท/ราย/ปี เป็นต้นทุนเฉลี่ยของผู้ป่วยนอก 1,908.57 บาท/ครั้ง และผู้ป่วยใน 22,345.61 บาท/ครั้ง พบว่าอัตราการใช้บริการของผู้ป่วยที่มากขึ้นทำให้มีต้นทุนใช้บริการมากขึ้น
เมื่อจำแนกตามตัวแปรตัวแปรตัวแต่ละประเภท พบว่า เพศหญิงมีต้นทุนรวมสูงกว่าเพศชาย โดยมีช่วงอายุ 40-49.9 ปี จะมีต้นทุนเฉลี่ยสูงสุด และสิทธิการรักษาเบิกได้ มีต้นทุนรวมสูงสุด 3,190.05 บาท/ราย/ปี เมื่อพิจารณาตามรหัสวินิจฉัยโรค (ICD-10) พบว่า M4782 (Other spondylosis: Cervical region) และ M4312 (Lumber Spondylolisthesis) มีต้นทุนประเภทผู้ป่วยนอกและในสูงสุดตามลำดับ ทั้งนี้พบว่าอัตราการใช้บริการที่มากขึ้นทำให้มีต้นทุนใช้บริการมากขึ้น
 
ที่มา
วารสารการแพทย์โรงพยาบาลอุดรธานี ปี 2552, September-December ปีที่: 17 ฉบับที่ 3 หน้า 500-507
คำสำคัญ
Rehabilitation, ต้นทุน, Unit cost, Neck pain, ปวดคอ, Udonthani Hospital, เวชกรรมฟื้นฟู, โรงพยาบาลอุดรธานี