ผลการบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่ได้รับยาเคมีบำบัด ณ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น
พิจักษณา มณีพันธุ์, เบญจมาศ คุชนี*
หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม 44150
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์:  เพื่อศึกษาผลการให้บริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักต่อความรู้ พฤติกรรมการดูแลตนเองและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
วิธีการศึกษา: ศึกษาผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่เข้ารับการรักษา ณ หอผู้ป่วยให้ยาเคมีบำบัด รพศ.ขอนแก่น ระหว่าง 3 มกราคม – 31 มีนาคม 2552 ผู้ป่วยเคยได้รับยาเคมีบำบัดอย่างน้อย 1 รอบรักษา มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 29 คน แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม (15 คน) และกลุ่มศึกษา (14 คน) ผู้ป่วยทั้งหมดได้รับการทดสอบ pre-test  ก่อนรับเคมีบำบัด ทั้งความรู้เรื่องโรคและยาเคมีบำบัด พฤติกรรมการดูแลตนเอง และคุณภาพชีวิต (โดย FACT-C version 4) กลุ่มศึกษาได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรม (ได้แก่ ความรู้เรื่องโรค ยาเคมีบำบัดและการดูแลรักษาตัวเอง) ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติของหอผู้ป่วย จากนั้นทดสอบ post-test  เมื่อผู้ป่วยกลับมารับยาเคมีบำบัดในรอบถัดไป
ผลการศึกษา: พบว่ากลุ่มศึกษามีคะแนนความรู้ที่ post-test  มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.001) อย่างไรก็ตาม ไม่พบความแตกต่างทางสถิติระหว่างกลุ่มในด้านพฤติกรรมการดูแลตนเองและคุณภาพชีวิต
สรุป: การบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีประโยชน์ทางคลินิกในด้านความรู้เรื่องโรคและยาเคมีบำบัด ส่วนผลทางด้านพฤติกรรมการดูแลตนเองและด้านคุณภาพชีวิต จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นที่อาจเกี่ยวข้อง ได้แก่ ระยะเวลาการติดตามผล จำนวนครั้งในการให้การแทรกแซงแก่ผู้ป่วย ภาษาที่ใช้กับคนท้องถิ่น เพื่อหาแนวทางพัฒนาคุณภาพการบริบาลทางเภสัชกรรม อีกทั้งนำไปสู่การพัฒนาสื่อการสอนที่ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อไป
 
ที่มา
ไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ (ศรีนครินทรวิโรฒเภสัชสาร) ปี 2554, January-March ปีที่: 6 ฉบับที่ 1 หน้า 25-31
คำสำคัญ
Quality of life, chemotherapy, คุณภาพชีวิต, Pharmaceutical care, การบริบาลทางเภสัชกรรม, Colorectal cancer, มะเร็งลำไส้และทวารหนัก, ยาเคมีบำบัด, คุณภาพชี่วิต