การศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยติดสุราในโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลศรีธัญญา
นันทวัช สิทธิรักษ์*, ศรินทิพย์ ศิริสุวรรณรัตน์, ศุภโชค สิงหกันต์, ณัฏฐา สายเสวย, พรจิรา ปริวัชรากุล, ลักขณา ทองโชติ, เพชรรัตน์ คุมขันธ์, ภูธเรศวร์ พงษ์บุปผา, นราทิพย์ สงวนพานิช, วรภัทร รัตอาภา
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: 1)เพื่อทราบคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยติดสุรา 2) เพื่อศึกษาปัจจัยพื้นฐานที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยติดสุรา 3) เพื่อศึกษาภาวะโรคร่วม (comorbidity) ทางจิตเวชและผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยติดสุรา
วิธีการศึกษา: การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงสำรวจในผู้ป่วยติดสุราที่เข้ารับการบำบัดรักษาภาวะติดสุราทั้งแบบผู้ป่วยนอกและแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลศรีธัญญาในช่วงเดือนกันยายน 2553 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2544 แบบสุ่มจำนวน 100 คน โดยใช้เครื่องมือคือ 1) แบบสัมภาษณ์เพื่อการวินิจฉัยภาวะติดสุรา Diagnostic interview for genetic studies, Thai version (Th-DIGS) 2) เครื่องมือวินิจฉัยโรคร่วมทางจิตเวช Mini international neuropsychiatric structure interview (M.I.N.I-Thai version) และ 3) เครื่องมือวัดคุณภาพชีวิต Short-form thirty six (SF-36 – Thai version) เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยติดสุราและหาภาวะโรคร่วมทางจิตเวชที่มักพบในผู้ป่วยติดสุราโดยผู้สัมภาษณ์ที่ได้ผ่านการอบรมการใช้เครื่องมือ รวมถึงศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยติดสุรา วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน unpaired t-test one-way ANOVA และ Pearson correlation
ผลการศึกษา: พบคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยติดสุราต่ำกว่าคนไทยทั่วไปในทุกด้าน โดยค่าเฉลี่ยคุณภาพชีวิตสูงสุดในด้าน general health (คะแนนเฉลี่ย 49.95) ต่ำสุดในด้าน physical functioning (คะแนนเฉลี่ย 25.35) ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในผู้ป่วยติดสุรา ได้แก่ การมีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดี การมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง การมีสถานภาพทางการเงินที่ดี อายุน้อย การมีบุตรน้อย ปริมาณสุราที่ดื่มต่อวันน้อย การไม่มีโรคร่วมทางจิตเวชดังต่อไปนี้ major depressive episode dysthymia, hypomanic episode, panic disorder, agoraphobia, social phobia, obsessive-compulsive disorder, generalized anxiety disorder, posttraumatic stress disorder, current psychotic disorder และ suicidality โดยภาวะโรคร่วมทางจิตเวช พบสูงถึงร้อยละ 69 โรคร่วมที่พบมาก 5 ลำดับแรก ได้แก่ lifetime psychotic disorder, major depressive episode, current psychotic disorder, generalized anxiety disorder, dysthymia และ suicidality ร้อยละ 25, 24, 17, 11,9 และ 9 ตามลำดับ
สรุป: ผู้ป่วยติดสุรามีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าประชาการไทยทั่วไปในทุกด้านและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยติดสุรา คือ ความสัมพันธ์ในครอบครัว สุขภาพร่างกาย สถานภาพทางการเงิน อายุ จำนวนบุตร ปริมาณการดื่มสุราต่อวัน และโรคร่วมทางจิตเวชบางโรค หากปัจจัยเหล่านี้ไม่ดีอาจจะเป็นอุปสรรคในการบำบัดผู้ป่วยติดสุราให้ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
 
ที่มา
วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2555, April-June ปีที่: 57 ฉบับที่ 2 หน้า 185-198
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, ผู้ป่วยติดสุรา, Alcohol dependent patients, Psychiatric comorbidity, โรคร่วมทางจิตเวช