ผลการเตรียมเพื่อการคลอดด้วยตนเอง ต่อการเผชิญความเจ็บปวดและความวิตกกังวลในระยะคลอด
สุภาวดี หารวาระ
ห้องคลอด โรงพยาบาลยโสธร
บทคัดย่อ
 
                การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลการเตรียมเพื่อการคลอดด้วยตนเองโดยเปรียบเทียบการเผชิญความเจ็บปวดและความวิตกกังวล ระหว่างกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ที่ได้รับการดูแลแบบปกติ กับกลุ่มที่ได้รับการเตรียมเพื่อการคลอดด้วยตนเอง กลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงตั้งครรภ์ ครรภ์แรกที่มารับบริการที่ห้องคลอดโรงพยาบาลยโสธร เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 30 ราย โดยการสุ่มอย่างง่าย แบ่งเป็น 2 กลุ่มเท่ากัน กลุ่มละ 15 คน กลุ่มทดลองได้รับการเตรียม เพื่อการคลอดด้วยตนเอง จากผู้วิจัย 2 ครั้ง และกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ
                เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้จัดทำขึ้น จากการทบทวนวรรณกรรมซึ่งประกอบด้วย แผนการสอนการเตรียมเพื่อการคลอดด้วยตนเอง แบบสังเกตพฤติกรรมการเผชิญความเจ็บปวดในระยะคลอด และแบบสอบถามความวิตกกังวล เครื่องมือได้ผ่านการทดสอบความตรงตามเนื้อหา และทดสอบความเชื่อมั่นโดยสัมประสิทธิอัลฟาคอนบาค มีค่าเท่ากับ 0.97 และ 0.98 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติทดสอบค่าที (T-test)
ผลการวิจัยมีดังนี้
  1. ค่าเฉลี่ยคะแนนการเผชิญความเจ็บปวด ในระยะคลอด ของกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ที่ได้รับการเตรียมเพื่อการคลอด ด้วยตนเองมีคะแนนดีกว่า กลุ่มผู้คลอดที่ได้รับการดูแลแบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001
  2. ค่าเฉลี่ยคะแนนความวิตกกังวล ในระยะคลอด ของกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ที่ได้รับการเตรียม เพื่อการคลอดด้วยตนเอง มีคะแนนน้อยกว่า กลุ่มผู้คลอดที่ได้รับการดูแลแบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001
 
ที่มา
ยโสธรเวชสาร ปี 2554, January-April ปีที่: 13 ฉบับที่ 1 หน้า 5-15